TRUE ซื้อของแพงจนไม่อยากลงทุนต่อ

ภาพรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปีนี้ ของบรรดา "เทลโก้" หรือผู้ให้บริการมือถือค่ายต่าง ๆ ที่ประกาศกันออกมา ก็ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ 


ภาพรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปีนี้ ของบรรดา “เทลโก้” หรือผู้ให้บริการมือถือค่ายต่าง ๆ ที่ประกาศกันออกมา ก็ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์

ไม่มีเซอร์ไพร์สอะไรที่เป็นนัยสำคัญ…

ประเดิมด้วย DTAC มีกำไรสุทธิ 726 ล้านบาท ลดลงราว 12% จากงวดไตรมาส 1/64

ตามมาด้วย ADVANC มีกำไรสุทธิ 6,311 ล้านบาท ลดลง 5%

ปิดท้ายด้วย TRUE ขาดทุนมากขึ้น 178% จนตัวเลขแดงฉานเหมือนสีโลโก้บริษัท ติดลบ 1,617 ล้านบาท

คำอธิบายต่อผลขาดทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการบันทึกค่าเสื่อมใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ประมูลมาได้มากขึ้น

ซึ่งน่าแปลก เพราะ ADVANC ก็ได้ไลเซนส์มาเพิ่มเหมือนกัน แต่ไหงแค่มีกำไรลดลงตามภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจ

ทีนี้ย้อนหลังกลับไปดูภาพรวมของทั้งปีเพื่อความกระจ่างมากขึ้น เช่นในงบปี 64 ของทรู จากรายงาน MD&A มีผลขาดทุนสุทธิ 1,428 ล้านบาท

หากเทียบปอนด์ต่อปอนด์ ระหว่างค่าย TRUE กับ ADVANC มีรายได้ 143,655 ล้านบาท และ 181,333 ล้านบาท ตามลำดับ

แต่ความน่าสนใจ หรือจะว่าไป…ความน่าฉงนสนเท่ห์ คือ สัดส่วนต้นทุน/ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของทั้ง 2 บริษัทแตกต่างกันลิบลับ

เช่นต้นทุนการให้บริการที่ยังไม่รวมค่าเสื่อมของทรู คิดเป็น 29.76% ของรายได้รวม ส่วนของ ADVANC คิดเป็น 18.45%

ต้นทุนขายของทรู 16.60% ขณะที่ของแอดวานซ์เท่ากับ 19.97%

กระทั่งค่าใช้จ่ายในการขาย (อื่น ๆ) และบริหาร หรือ SG&A ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น (โดยตรง) ของทรู อยู่ที่สูงถึง 17.94%

ส่วนแอดวานซ์อยู่ในระดับต่ำเพียง 11.97%

เท่านี้คงเพียงพอจะอธิบายสาเหตุได้ว่า ทำไม TRUE ที่มีรายได้น้อยกว่า ADVANC อยู่ประมาณ 20% แต่กลับมีบรรทัดสุดท้ายแตกต่างจากคู่แข่งราวเหวกับฟ้า

ในขณะที่ผู้ถือหุ้นทรูต้องช่วยกันซับเลือดจากผลขาดทุน 1,428 ล้านบาท ฟากแอดวานซ์ฟาดกำไรไปเหนาะ ๆ 26,922 ล้านบาท

ผลประกอบการระหว่าง “นับเบอร์วัน” กับ “นัมเบอร์ทู” ไม่ควรถ่างกันขนาดนี้ใช่หรือไม่

ทรูก็นับเป็นกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ มีมาตรฐานด้านการบริหารเป็นสากลระดับโลก เฉกเช่นเดียวกับแอดวานซ์

หากมองเรื่องศักยภาพที่เกิดจากโครงสร้างผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหาร คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 เจ้านี้ แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยในเชิงของคุณภาพ และแน่นอนรวมถึงความสามารถ

เช่นนั้น ผลลัพธ์จากการดำเนินกิจการก็ไม่ควรจะแตกต่างกันเช่นนี้ เว้นเสียแต่ว่าเป็นความตั้งใจ โดยมุ่งเน้นไปยังวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน

ว่าแต่ “เป้าหมายหลัก” ของการเป็น “บริษัทมหาชนจำกัด” ที่เอาเงินชาวบ้านมาทำธุรกิจ คืออะไรกันนะ??

ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแบบโฟกัสกรุ๊ปต่อการควบรวมระหว่าง TRUE-DTAC เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แน่นอนมีทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุน ขึ้นอยู่กับผู้พูดเป็นใคร หรือมีส่วนได้เสียอย่างไร

กรณีความเห็นที่คล้อยตามไปกับการควบรวม ต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าย่อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม

เช่นสามารถใช้เสาทดแทนกันได้ในบางพื้นที่ ทำให้การบริการสัญญาณดีขึ้น ผู้ประกอบการไม่ต้องสต๊อกวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้มากมายโดยไม่จำเป็น

หรือเลยเถิดไปถึงขั้นว่า ADVANC มีกำไรทิ้งห่าง TRUE และ DTAC จึงทำให้สามารถขยายโครงข่ายได้มากกว่าอีก 2 รายซึ่งไม่มีงบลงทุน หรือมีน้อย

ดังนั้นจึงต้องควบรวมเพื่อให้แข่งขันสู้ได้!!

น่าแปลกอีกแล้ว ไม่ยักมีการตั้งคำถามว่าทำไมโต้โผควบรวมอย่างทรู ถึงทำกำไรได้ไม่เหมือนแอดวานซ์ ทั้งที่รายได้ก็ไม่ต่างกันมาก

การที่บอกว่าไม่มีกำไร เลยทำให้ไม่มีเงินไปพัฒนาคุณภาพบริการ นั่นเท่ากับเป็นการจับประชาชนมาเป็นตัวประกันอีกแล้วใช่หรือไม่

คิดด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ “รายได้ลบต้นทุน” เท่ากับ “กำไร” หากว่ามีรายได้มากกว่าต้นทุน แต่ถ้ามีต้นทุนมากกว่ารายได้เมื่อไหร่ ผลลัพธ์คือติดลบ หรือ “ขาดทุน”

การล้อมกรอบข้อสังเกตแต่เพียงว่ารายได้ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ความจริงถูกบดบังได้

ซึ่งหลายกรณี ประเด็นไม่ได้อยู่ที่รายได้ไม่พอ หากแต่มีต้นทุนที่สูงเกินจริง หรืออาจบอกได้ว่า…

“กระบวนการจัดซื้อ-จัดจ้าง” อาจมีการ “มาร์กอัพราคา” โดยใครในลักษณะ “มิดเดิลแมนซ้อนเวนเดอร์” มากจนเกินไป

จากที่กสทช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 ชุด เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การควบรวม “ทรู-ดีแทค”

ประกอบด้วย อนุฯ ด้านกฎหมาย คุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง เทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์

กสทช.ควรตั้งเพิ่มอีกสักหนึ่งคณะมาช่วยตรวจสอบหรือหาแนวทางการบริหารต้นทุน ตลอดจน “โพรเคียวเมนต์” ของเหล่าเทลโก้ทั้งหลาย เพื่อไม่ต้องประสบปัญหาขาดเงินไปลงทุนเช่นนี้อีก

เคราะห์กรรมจะได้ไม่ไปตกใส่ประชาชน ที่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นจากบรรทัดฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับคุณภาพที่ดีขึ้น

อย่าลืมว่าถ้าเหลือผู้ให้บริการหลักแค่ 2 รายเมื่อไหร่ การฮั้วราคาโดยอัตโนมัติแบบ “เจ้าหนึ่งขึ้นอีกเจ้าก็ขึ้นตาม” จะอุบัติขึ้นในทันที!!

Back to top button