พาราสาวะถีอรชุน

เด็ดดวงเสียยิ่งกว่านักการเมือง เพราะมีอำนาจเด็ดขาดกว่า ลีลาวันนี้ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ล่าสุดกล่าวหาว่าภัยแล้งเกิดจากโครงการจำนำข้าวโยนบาปให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้มันต่างจากนักการเมืองตรงไหน ดังนั้น อย่าไปเที่ยวปฏิเสธกับใครต่อใครเขาว่า ตัวเองไม่ใช่นักการเมือง สิ่งที่ทำอยู่มันเป็นหลักฐานฟ้องได้อย่างชัดเจน


เด็ดดวงเสียยิ่งกว่านักการเมือง เพราะมีอำนาจเด็ดขาดกว่า ลีลาวันนี้ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ล่าสุดกล่าวหาว่าภัยแล้งเกิดจากโครงการจำนำข้าวโยนบาปให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้มันต่างจากนักการเมืองตรงไหน ดังนั้น อย่าไปเที่ยวปฏิเสธกับใครต่อใครเขาว่า ตัวเองไม่ใช่นักการเมือง สิ่งที่ทำอยู่มันเป็นหลักฐานฟ้องได้อย่างชัดเจน

เป็นอันว่าจบข่าวกับรูปลักษณ์ของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ผลักดันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เนื่องจากบิ๊กตู่การันตีด้วยตัวเองเป็นคนตีกรอบให้รัฐธรรมนูญต้องเป็นไปเช่นนี้ ส่วนพวกที่ตีโพยตีพายก็หนีไม่พ้นนักการเมือง พรรคการเมือง เพราะถือเป็นผู้ที่เสียประโยชน์โดยตรง หยิบเหตุผลนี้มาอ้างย่อมโดนใจพวกที่มองว่าการเมืองชั่วการเมืองเลวเป็นธรรมดา

นอกจากมองไม่เห็นหัวนักการเมืองแล้ว องค์รัฏฐาธิปัตย์ยังมีอคติอย่างรุนแรงต่อสื่อ ถึงกับบอกว่ารังเกียจไอ้เจ้าของสำนักพิมพ์บางฉบับ ตอนที่มีเรื่องมันอยู่ไหน เขียนเชียร์เขาอยู่นั้นแหละ ทุกวันนี้ก็ยังเชียร์อยู่ คนบังคับใช้กฎหมาย คนทำงานเดือดร้อน รู้อยู่แล้วนะว่าใครไม่ต้องเอ่ยชื่อ ไม่ได้ขู่ด้วย สามารถชี้แจงกับคนอื่นได้ว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ถ้าจะต้องทำกับไอ้บางคนซึ่งจะทำตามกฎหมาย อย่าหาว่าไปรังแกสื่อ แบบนี้เขาไม่ได้เรียกว่าสื่อเพราะสร้างความแตกแยก

คำถามที่ตามมาก็คือ มีเฉพาะสำนักพิมพ์ที่ท่านว่าอย่างนั้นหรือ สื่อดาวเทียมเลือกข้างที่เอาอกเอาใจคณะรัฐประหารทุกวัน แล้วก็เสี้ยมให้เกิดความเกลียดชังกับอีกพวก ผู้มีอำนาจไม่รู้สึกรู้สาอะไรบ้างหรือ ต้องยกเอาคำพูดของท่านผู้นำนั่นแหละมาย้อนศร ไม่ต้องให้เอ่ยชื่อก็รู้ว่าเป็นใคร ที่น่าอดสูมากกว่าคือหน่วยงานที่ตรวจสอบกลับมองไม่เห็น สงสัยมัวแต่มุ่งจะเล่นงานสื่อบางสำนักตามคำสั่งของบางคนบางพวก

ไหนๆ ก็พูดถึงประเด็นสื่อ วันก่อน อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม.ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี พูดถึงทีวีการเมืองว่า สถานีจำนวนมากมีเสรีภาพ แต่เป็นเสรีภาพที่ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะมีการกล่าวหากันด้วยข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ใส่ร้ายป้ายสี เพราะฉะนั้นในแง่สื่อ การมีสื่อเลือกข้าง สื่อเฉพาะทางมันต้องมีความรับผิดชอบด้วย เสรีภาพในการแสดงออกต้องมี แต่ในเวลาปกติเสรีภาพอาจจะมีได้มากหน่อย พอมาเจอรัฐบาลทหารก็พูดไม่ได้เพราะก็แพ้อำนาจทหาร

เข้าใจข้อห่วงใยของอดีตประธานกสม. แต่มีปุจฉาย้อนกลับไปว่า หากถามถึงความรับผิดชอบ ก็ต้องถามอมราว่าในฐานะที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนที่จะต้องป้องกันการถูกละเมิด แล้วเหตุใดจึงไปมอบดอกไม้ให้ผู้นำที่สั่งสลายการชุมนุมของประชาชนจนเป็นเหตุให้มีคนตายเกือบร้อยบาดเจ็บอีกหลายพันคน หรือว่าเพิ่งคิดได้ตอนที่จะถอดหัวโขนทิ้งแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข้อกังขาอีกหลายประการต่อการทำงานของกสม. โดยเฉพาะกรณีบทสรุปจากการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เห็นได้ชัดอุ้มผู้มีอำนาจเวลานั้นอย่างเต็มที่ แต่ยังดีที่ตอบคำถามของบีบีซีเรื่องศาลทหารได้อย่างน่าฟัง เรื่องนี้ควรหลีกเลี่ยงและทหารจะมาแก้ตัวว่าไม่ต่างจากศาลปกติไม่ได้ เพราะในแง่ความหมายเชิงสัญลักษณ์มันแรง     

ประเด็นนี้คงคล้ายๆ กับกรณีความพยายามที่จะใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อเอาผิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บังคับให้มีการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าวด้วยมูลค่ามหาศาล 5 แสนล้านบาท จน สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. ต้องออกมาท้วงติงว่า การใช้อำนาจดังกล่าวน่าจะมีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องการตีความทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

เช่นเดียวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยที่ก่อนหน้านั้นสมลักษณ์เคยเตือนบิ๊กตู่ไว้ว่า คนที่ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่นั้นยังมีกิเลส ยังมีเอียงไปมาอยู่ อยากบอกว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าใช้เลย จะได้ไม่เดือดร้อนเวลาหมดอำนาจ แต่คำเตือนดังว่าคงไม่ได้ผล เพราะการใช้อำนาจคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการข้าวในโครงการรับจำนำเป็นบทพิสูจน์ที่ดีที่สุด

หลักการของนักกฎหมายที่ยึดกันมาโดยตลอดคือ อำนาจไม่ใช่ความถูกต้อง แต่ความถูกต้องต่างหากคืออำนาจ น่าจะเดินสวนทางกับผู้มีอำนาจเวลานี้ เพราะดูเหมือนว่าจะมั่นใจและเด็ดขาดกับการใช้อำนาจเป็นอย่างมาก มิเช่นนั้น คงไม่กล้าพูดถึงเรื่องปิดประเทศ ที่สุดท้ายต้องมาไล่แก้ต่างและโทษสื่อว่าเขียนไปเพื่อขยายผลให้ตัวเองเสียหาย

อย่างไรก็ตาม บทพิสูจน์ที่ว่าปิดประเทศในยุคปัจจุบันนั้นทำได้ยาก เพราะสุดสัปดาห์นี้ที่เมียนมาร์จะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์นับหมื่นคนและการวางมาตรการคุมเข้มกันสุดๆ ของรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า ประเทศที่เคยถูกปกครองภายใต้ร่มเงาของอำนาจเผด็จการนั้นได้ล่มสลายไปแล้ว

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่รู้ว่ากลางปี 2560 จะได้จัดการเลือกตั้งตามคำสัญญาหรือเปล่า ยิ่งพิจารณาดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างและดันกันจนสีข้างถลอกเวลานี้ มีแนวโน้มว่าน่าจะผ่านการทำประชามติได้ยาก เว้นเสียแต่จะมีมุกเด็ดหรือวาทกรรมลวงโลกเหมือนที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อคราวรัฐธรรมนูญปี 2550 มาหลอกลวงประชาชน

หรือจะเป็นอย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง บอกมาล่าสุด รู้สึกน่าแปลกใจต่อการเสนอระบบเลือกตั้งส.ส.แบบที่เป็นอยู่ ไม่รู้ว่าต้องการอะไรกันแน่ หรือว่าเป็นการโยนประเด็นให้ถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย แล้วก็อาจจะถอยไป แต่ไปแอบทำเรื่องอื่นๆ ที่เลวร้ายไม่แพ้กันหรือถ้าไม่มีใครสนใจทักท้วงก็อาจเอาจริงไปเสียเลยก็ได้ แง่มุมเช่นนี้ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อย

แต่คงจะคาดเดาบทสรุปได้ยาก เพราะเดอะอ๋อยยังยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญแบบที่ทำกันอยู่วิเคราะห์ยาก เขาอาจจะร่างให้แย่มากๆ แบบตั้งใจให้ผ่าน ซึ่งถ้าผ่านประชามติก็ดีสำหรับผู้ร่าง ถ้าไม่ผ่านคสช.จะทำอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ อาจให้คณะเดิมร่างอีกให้สนุกสนานกันไปก็ได้ หรืออาจจะตั้งใจร่างให้แย่มากๆ เพื่อไม่ให้ผ่านก็ได้อีกเรียกว่า ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง มองจากอาการแล้วน่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ

Back to top button