“ไอเอ็มเอฟ” เตือน ศก.โลกส่อวุ่นวาย 30 ชาติ “จำกัดส่งออกอาหาร”
ไอเอ็มเอฟ เตือนเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณวุ่นวายหนัก หลัง 30 ชาติจำกัดการส่งออกอาหาร อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด 19 รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ตลาดการเงินเปราะบาง และมีปัญหาต้นทุนในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เตือนว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง โดยมีผลพวงมาจากทั้งการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ส่วนตลาดการเงินมีความเปราะบางอย่างยิ่ง รวมไปถึงปัญหาจากระบบห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจาก ขณะนี้มี 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น สร้างความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนตินา สั่งระงับการส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง,อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566
แอลจีเรีย ระงับการส่งออกพาสต้า ข้าวสาลี น้ำมันพืช น้ำตาล จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565, อียิปต์ ระงับการส่งออกน้ำมันพืชข้าวโพด ถึงวันที่ 12 มิ.ย 2565, อินเดีย ระงับการส่งออกข้าวสาลี ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565
อินโดนีเซีย ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม,น้ำมันเมล็ดปาล์ม ถึง 31 ธ.ค. 2565 แต่ต่อมาวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ยกเลิกคำสั่งห้าม หลังจากสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศดีขึ้น
มาเลเซีย ประกาศระงับการส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนไก่และราคาไก่ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จึงตัดสินใจประกาศระงับการส่งออก และยังไม่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะกลับมาส่งออกได้เมื่อใด
อิหร่าน ระงับการส่งออกมันฝรั่ง มะเขือม่วง มะเขือเทศ หัวหอม ถึง 31 ธ.ค. 2565, คาซัคสถาน ระงับการส่งออกข้าวสาลี แป้งสาลี ถึง 15 มิ.ย. 2565 โคโซโว ระงับการส่งออก ข้าวสาลี ข้าวโพด แป้ง น้ำมันพืช เกลือ น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565
ตุรกี ระงับการส่งออก เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ เนย น้ำมันปรุงอาหาร ถึง 31 ธ.ค. 2565, ยูเครน ระงับการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565
รัสเซีย ระงับการส่งออกน้ำตาล เมล็ดทานตะวัน ถึง 31 ส.ค. 2565 และ ข้าวสาลี แป้งสาลี ข้าวไรย์ (ข้าวไรย์ พืชชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวสาลี ลักษณะคล้ายคลึงกันกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถึง 30 มิ.ย. 2565
เซอร์เบีย ระงับการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด แป้ง น้ำมัน ถึง 31 ธ.ค. 2565, ตูนิเซีย ระงับการส่งออกผลไม้ ผัก ถึง 31 ธ.ค. 2565, คูเวต ระงับการส่งออก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ ธัญพืช น้ำมันพืช
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังประเทศได้เริ่มทบทวนมาตรการการส่งออก อันเนื่องมาจากปัจจัยการขาดแคลนต้นทุนในการผลิต จนนำไปสู่มาตรการกักตุนห้ามส่งออกอาหารขยายวงไปถึงราว 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติราคาอาหาร เมื่อปี 2550 – 2551