ฟาดกลับ! “ฝ่ายค้าน” ติงนายกฯ กล่าวหา ส.ส.ใช้เวทีงบประมาณหาเสียง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วันที่ 2 ยังดุเดือดไม่แพ้วันแรก หลังนายกรัฐมนตรีใช้สิทธิชี้แจง ติง ส.ส.ฝ่ายค้านใช้เวทีสภาฯ หาเสียง จนผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส.ก้าวไกล ตำหนินายกรัฐมนตรี และมองว่าเป็นการล่วงเกินฝ่ายนิติบัญญัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เป็นผู้เสนอ ในวาระรับหลักการ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ที่เป็นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปราย โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านพาดพิง ว่า นั่งฟังมาตลอดตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ แต่นั่งฟังไปก็งงๆวันนี้ เราพิจารณางบประมาณประจำปี 2566 หรือพิจารณางบประมาณของพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งยังไม่ได้เป็นรัฐบาลในเวลานี้ จึงเห็นว่า พรรคการเมืองอย่าใช้โอกาสนี้ในการหาเสียง เพราะผิดเวที
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงประเด็นการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่ลดลง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับสงครามการค้าและสงครามความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลก็ลำบากไม่ได้สบายใจหรือมีความสุข ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาผลสำเร็จมีหลายอย่าง ดังนั้นหากพูดกันเพียงว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย คิดว่าไม่เป็นธรรมและประชาชนจะไม่เข้าใจ
ส่วนการเก็บภาษีได้เพียงกว่า 10% ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงมีการจัดเก็บภาษีกว่า 30% แต่รัฐก็ยังไม่ได้ไปรีดเลือดกับใคร เพราะรู้ว่ายังจัดเก็บไม่ได้ และประเทศไทยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ จึงอยากทราบว่าที่ผ่านมานั้น โดยเฉพาะคนที่อภิปรายว่ารัฐบาลหารายได้ไม่เป็น ขอให้มองย้อนกลับไปว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริการหลายปี ได้ทำอะไรไว้แล้วบ้าง สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึง นั่นคือความเท่าเทียม
การชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พาดพิงถึงพรรคฝ่ายค้านว่า ใช้เวทีพิจารณางบประมาณ เป็นเวทีหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น ทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ขอใช้สิทธิพาดพิง โดยนายพิธาชี้แจงว่า สภาคือเวทีที่พิทักษ์ภาษีของประชาชน ส.ส.ฝ่ายค้านจึงพยายามหาข้อมูลใหม่ๆ โดยเปรียบเทียบจากต่างประเทศและเสนอวิธีการหารายได้ให้กับทางรัฐบาล จึงขอให้เข้าใจไว้ด้วย และไม่ต้องกลัว เมื่อถึงเวลาของพวกตนเมื่อไหร่ จะทำอย่างแน่นอน
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นอภิปรายสวน พล.อ.ประยุทธ์ ว่า หากท่านพูดแบบนี้ ท่านกำลังกล่าวหาสภา และหากตีความตามคำพูดของนายกฯ เท่ากับว่าสภาผิดทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องงบลงทุนที่ตนอภิปรายเมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 65) ซึ่งตนเทียบกับปี 2565 และ 2566 หากท่านหารายได้ไม่ได้ และเอาไปลงทุน ท่านจะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังทันที ขณะที่หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อรัฐบาลของบมา สภามีหน้าที่ตัดลด แต่เมื่อตัดลดแล้วก็นำไปเพิ่มให้กับโครงการที่ท่านขอมา แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยของบลงทุนเข้ามา
จึงเห็น นายกรัฐมนตรี ไม่ควรแสดงภาวะอย่างนี้ในการโยนความผิดให้คนอื่น แม้กระทั่งหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้สิทธิชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใน ประเด็นที่ฝ่ายค้านมีความเป็นห่วงว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ 2.49 ล้านล้านบาทหรือไม่นั้น โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้เป็นไปตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว การจัดเก็บรายได้ก็จะชะลอลง แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว การจัดเก็บรายได้ก็จะทำได้มากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ พบว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่สามารถทำได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ คือ ปีงบประมาณ 2559, 2561 และ 2562 ส่วนปีอื่นๆ ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งมีเหตุผลที่สามารถชี้แจงได้
อย่างในปีงบ 2560 การจัดเก็บรายได้ลดลง เนื่องจากปี 2559 มีรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่น 4G จึงทำให้ดูเหมือนการจัดเก็บรายได้ในปีงบ 2560 ลดลงเมื่อเทียบกับปีงบ 2559 ขณะที่ในปีงบ 2563 และ 2564 การจัดเก็บรายได้ลดลงเพราะไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด ไทยจำเป็นต้องปิดประเทศไม่มีการรับนักท่องเที่ยว รัฐบาลต้องมีมาตรการลดภาษีต่างๆ รวมถึงขยายเวลาชำระภาษีออกไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ลดลง และยังต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
สำหรับปีงบ 2565 การจัดเก็บรายได้สุทธิล่าสุดช่วง 7 เดือน (ต.ค.2564 -เม.ย. 2565) อยู่ที่ 1.277 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการราว 45,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบ 2564 ที่ 4.5% และคาดว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือนี้ รายได้การจัดเก็บภาษี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 จะสามารถทำได้ตามเป้า และอาจสูงกว่าเป้าหมายไม่มาก เนื่องจากมีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน