พลังงานจ่อทุบ “ค่าการกลั่น” หวังลดราคาขายปลีกน้ำมันช่วย ปชช.
กระทรวงพลังงาน ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณารายละเอียดค่าการกลั่น หวังกดราคาขายปลีกลงช่วยลดราคาน้ำมัน คาดได้ข้อสรุปเดือนมิถุนายนนี้ ด้านโรงกลั่นแจงแบกภาระต้นทุนเพียบ ไม่ได้กำไรจากราคาน้ำมันพุ่ง ซ้ำยังขาดทุนสต๊อคน้ำมัน 3 หมื่นล้าน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล โดยเร็วๆนี้จะหารือกับกลุ่มโรงกลั่น เพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนภาพรวม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้นายวัฒนพงษ์ ระบุว่า ธุรกิจน้ำมันเป็นการค้าแบบเสรี จึงไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่นได้ แต่จะใช้วิธีมอนิเตอร์บนสมมติฐานหลักๆ ของส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับสำเร็จรูป ซึ่งหากดูยอมรับว่าค่าการกลั่นอาจจะสูงเกินไป แต่ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริง เพราะเข้าใจว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าการกลั่นมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก จากที่เคยอยู่เฉลี่ยที่ 2 บาทต่อลิตร มาเป็น 5 บาทต่อลิตร แต่สมมติฐานที่ทางกระทรวงพลังงานติดตามอาจจะต่างกับโรงกลั่น เพราะโรงกลั่นแต่ละแห่งมีการนำเข้าน้ำมันมาจากหลายแหล่งไม่เท่ากัน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาน้ำมันดิบตลาดโลกราคาผันผวนจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีค่าพรีเมี่ยมสูงขึ้น เพราะมีเรื่องปัจจัยเสี่ยงทั้งหายาก และการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายที่แพง จึงต้องดูว่า ต้นทุนแท้จริงในการซื้อน้ำมันดิบ แหล่งซื้อ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อคำนวณแล้วออกมาเท่าไร เหมาะสมหรือไม่ เพราะกลุ่มโรงกลั่นอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในภาวะปัจจุบัน จึงต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม นายวัฒนพงษ์ ยอมรับว่า หากอ้างอิงจากการพิจารณาค่าการกลั่นเบื้องต้นจากรัฐ บนสมติฐานเดิมมีโอกาสที่ค่าการกลั่นจะลดลงมาได้ระดับหนึ่ง และจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับลดลงมาด้วย แต่ต้องมาพิจารณาจากต้นทุนของแต่ละโรงกลั่นประกอบ รวมถึงแต่ละช่วงเวลาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จึงยังไม่อาจตอบได้ชัดเจนว่า จะสามารถนำมาสู่การลดราคาขายปลีกได้หรือไม่ ซึ่งในคณะอนุกรรมการฯที่พิจารณาเรื่องนี้ยังมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลราคาขายปลีก และต้นทุนต่างๆที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบเช่นกัน
โดยที่ผ่านมา นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ได้ชี้แจงว่า ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับนั้นสูงขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน หรือดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าการกลั่นไม่ได้คำนวณจากส่วนต่างราคาของน้ำมันเบนซินและดีเซลเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิงเท่านั้น แต่ต้องนำส่วนต่างราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต ที่โรงกลั่นผลิตได้ รวมทั้งก๊าซหุงต้ม หรือน้ำมันเตาที่มีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบมาคำนวณ รวมทั้งหมดเทียบกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ หรือราคาส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง และค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังประเทศไทย เช่น ค่าขนส่งน้ำมันดิบทางเรือ ค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักลบต้นทุนค่าพลังงานความร้อน ค่าน้ำและค่าไฟที่ใช้ในการกลั่นอีกด้วย
ทั้งนี้ ค่าการกลั่นที่คำนวณได้ดังกล่าวยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและภาษี เป็นต้น เมื่อนำค่าการกลั่นมาหักลบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงกำไร ขาดทุน จากการบริหารความเสี่ยงด้านราคา และสต๊อกน้ำมัน จึงจะสะท้อนกำไรสุทธิที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับจริง
หากพิจารณากำไรที่แท้จริงที่กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้รับนั้น จะเห็นว่า ไม่ได้มีกำไรสูงตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแต่อย่างใด อีกทั้งกลุ่มโรงกลั่นฯ ยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหากราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวลดลงในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปตามวงจรของธุรกิจน้ำมันที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยสามารถดูได้จากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดและกลุ่มโรงกลั่นฯ ขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 2563 เป็นจำนวนเงินรวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มโรงกลั่นฯ ยังคงต้องแบกรับการขาดทุนมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง และยังลงทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่ต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 50,000 ล้านบาทอีกด้วย