พาราสาวะถี

ไม่ต้องรอให้ กกต.มีมติรับรอง ส.ก.ให้ครบ 50 คนแล้วค่อยเปิดประชุมสภา กทม. เพราะปัญหารออยู่ข้างหน้า


ไม่ต้องรอให้ กกต.มีมติรับรอง ส.ก.ให้ครบ 50 คนแล้วค่อยเปิดประชุมสภา กทม. เพราะปัญหารออยู่ข้างหน้า ดังนั้น ทาง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.จึงได้สั่งการให้ปลัด กทม.ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอเปิดประชุมสภา กทม.ทันที แน่นอนว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากอนุมัติและได้มาเป็นประธานในการเปิดประชุมไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ปัญหาสำคัญที่ทางฝ่ายบริหาร กทม.จะต้องประสานและร่วมมือกับสภา กทม.ในการสะสาง คงเป็นเรื่องงบประมาณปี 2565 ที่พบว่าเหลือใช้แค่ 94 ล้านบาท ก็ต้องไปดูกันว่ายังมีงบส่วนอื่นที่จะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ รวมไปถึงการเร่งร่างแผนงบประมาณประจำปี 2566 ก่อนที่จะเร่งเสนอเพื่อให้สภา กทม.อนุมัติ แม้ว่าจะต้องรอไปจนกว่าจะหมดปีงบประมาณ 2565 แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ สามารถกำหนดทิศทางว่าจะเคลื่อนงานกันอย่างไร 214 นโยบายที่ประกาศไป ส่วนไหนที่จะดำเนินการได้ทันที

เมื่อพิจารณาจากจำนวน ส.ก.ที่เสียงส่วนใหญ่เป็นของเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล บวกกับประธานสภา กทม.ที่ชื่อ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ จากพรรคเพื่อไทย ก็น่าเชื่อได้ว่ากระบวนการทำงาน ประสานงานระหว่างฝ่ายบริหารกับสภา กทม.น่าจะราบรื่น เรียบร้อย ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจกันเป็นพิเศษหนีไม่พ้นปมสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งฟังจากปากของ มท.1 ที่มาเปิดประชุมสภา กทม.แล้ว ดูเหมือนว่าจะโยนเผือกร้อนมาให้ กทม.ตัดสินใจเอง

น่าขีดเส้นใต้คำพูดของบิ๊กป๊อกที่อ้างว่า ประเด็นการใช้คำสั่งของ คสช.ต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีปัญหามานานแล้ว และยังหาแนวทางแก้ไขไม่ได้ คสช.ก็หาแนวทางให้ ซึ่งการแก้ไข รวมถึงการเจรจากำลังรอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อที่จะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่ามีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ และมีสภา กทม.ก็จะมีการทำหนังสือถามว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร

คงมีทางลงที่ไม่ต้องกระอักกระอ่วนใจ แต่ปมสำคัญมันอยู่ที่ว่ามีเรื่องพรรค์อย่างว่าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ถ้าหากมีย่อมเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาคเอกชนที่กลายเป็นผู้เสียประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่องต้องออกมาแอ็คชั่นอย่างรุนแรงแน่นอน อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับไปดูคำสั่งของ คสช.ต้นตอที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหา ก็จะพบว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เพียงแต่ระบุให้เจรจากับผู้รับสัมปทานปัจจุบันเพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้ระบุว่าสามารถขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปได้อีก 30 ปี โดยไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน

มุมนี้เป็นสิ่งที่ชัชชาติย้ำมาตั้งแต่ต้น การตกลงขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 30 ปีโดยไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากผู้ว่าฯ กทม.ยอมลงนามตามที่ได้ดำเนินการกันไว้ก่อนหน้า ย่อมเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเมื่อดู 3 แนวทางที่ปลัด กทม.รายงานต่อผู้ว่าฯ กทม.ในวันที่เข้ารับตำแหน่งแล้ว ต้องยอมรับว่าผลที่จะตามมานั้นกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมจะต้องแบกรับ

ด้วยเหตุนี้จึงมีข่าวเล็ดลอดมาว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงหูกวางไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ได้ยินแนวทางแบบนี้ เพราะเท่ากับว่า กทม.ไม่ได้รับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ปัญหาทุกอย่างกลับไปสู่จุดตั้งต้นเหมือนเดิม และยังกลายมาเป็นภาระของกระทรวงคมนาคมเข้าไปอีก เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงไม่ต้องมองต่อไปว่าที่ยังยักแย่ยักยันว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้หรือไม่นั้น น่าจะอีกนาน หรือไม่ก็ดึงไปจนหมดวาระของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ชวนให้คิดด้วยว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นของกระทรวงคมนาคม แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เห็นควรให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 ปีนั้น กลับไม่มีผู้แทนกระทรวงคมนาคมร่วมอยู่ด้วย และกระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี นี่ก็จะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ต้องถูกแช่แข็ง เพราะไม่ใช่แค่รอคำตอบจาก กทม.เท่านั้น แต่กระทรวงคมนาคมรวมถึงพรรคภูมิใจไทยมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ไพศาล พืชมงคล ได้มีการตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ไว้น่าสนใจไม่แพ้กัน คำสั่ง คสช.ที่ให้คณะกรรมการเจรจาหาข้อยุติโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ  ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม นั้นหมายความว่าการคิดค่าโดยสารสูงเกินสมควรและแบ่งปันผลประโยชน์ให้ภาครัฐน้อยเกินสมควร จึงมีปัญหาว่าขัดต่อคำสั่ง คสช.หรือไม่

ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่าชัชชาติตั้งการ์ดสูงอย่างมากต่อเรื่องที่จะต้องทำให้เกิดความโปร่งใส การนำคณะผู้บริหาร กทม.ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำเข้าไปพบองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแสดงเจตนารมณ์ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและไว้ใจ ก็เหมือนเป็นการหาแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำว่า การจับมือกับ ACT จะทำให้เราเดินไปอย่างมั่นใจและถูกทางมากขึ้น

แน่นอนว่า การจับมือลักษณะนี้ย่อมจะมีความร่วมมือคู่ขนานไปกับคณะกรรมการของ กทม.ที่มีอยู่ในกระบวนการพิจารณาปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย ฟังจากสิ่งที่ชัชชาติอธิบายไม่แน่ว่า ปัญหาคาราคาซังที่ยืดเยื้อใน ครม. จากเหตุที่กระทรวงคมนาคมรอฟังคำตอบที่ชัดเจนจากทาง กทม.นั้น หลังการประมวลข้อมูลโดยผู้ว่าฯ กทม.และทีมบริหารที่ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี ทุกอย่างอาจจะจบเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้ แต่ไม่รู้ว่าจะจบแบบที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอต้องการหรือไม่เท่านั้นเอง

Back to top button