CPF ผนึก “ภาคีเครือข่าย” ร่วมกำจัดขยะ อนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

CPF ผนึก "ภาคีเครือข่าย" ร่วมกำจัดขยะในทะเลอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความมุ่งมั่นเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จับมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมจัดการขยะในทะเลอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความมุ่งมั่นเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล สอดรับ “วันทะเลโลก” ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งในปีนี้องค์การสหประชาชาติมีแนวคิดรณรงค์ “รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร” (Revitalization : Collective Action for the Ocean)

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะบริษัทชั้นนำดำเนินการธุรกิจอาหารแบบครบวงจร ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการจัดการปัญหาขยะในชายฝั่งทะเลหรือในมหาสมุทรซึ่งเป็นต้นทางความมั่นคงทางอาหารของโลก บริษัทฯ จึงเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตสัตว์น้ำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อมทางทะเล และผนึกพลังกับเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาขยะทะเลที่กำลังเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเล

โดยบริษัทฯ ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการพัฒนาการประมงที่ยั่งยืน ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลที่สำคัญ ตั้งแต่การจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อจัดหาปลาป่นจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน พร้อมทั้งร่วมมือกับคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย (Thai Sustainable Fisheries Roundtable: TSFR) ดำเนินโครงการ Fishery Improver Project หรือ FIP เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการประมงอวนลากในพื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทยตามข้อกำหนดการประเมินแบบสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ (Multi-species Assessment Methodology) ภายใต้มาตรฐานการประมงยั่งยืน MarinTrust Improver Programme นับเป็นโครงการแรกของโลกที่ช่วยป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมง ที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU และช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลของประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯยังได้ขยายการดำเนินโครงการ FIP ไปยังประเทศอินเดีย และเวียดนาม

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเข้าร่วม Seafood Business for Ocean Stewardship หรือ SeaBOS องค์กรระดับโลก เพื่อความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลชั้นนำจากทั่วโลก และกลุ่มนักวิจัยจากประเทศต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการผลิตอาหารทะเลคุณภาพด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน และยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาล แรงงานประมง จังหวัดสงขลา (The Fisherman Life Enhancement Center: FLEC) ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงและครอบครัว ขจัดการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งในปีนี้ ศูนย์ FLEC ได้ดำเนินมาสู่ระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) ได้ต่อยอดส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานประมงในการจัดการขยะชายฝั่งและในทะเล เพื่อร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลอ่าวไทย

สำหรับบริษัทฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องท้องทะเลของไทย อาทิ การเพิ่มมูลค่าขยะต่อยอดจากโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ร่วมรณรงค์ชาวประมงลดการทิ้งขยะในทะเล และเก็บขยะจากกิจกรรมประมงกลับขึ้นสู่ฝั่ง พร้อมดำเนินโครงการนำร่องผลิตเสื้อยืดจากขวดพลาสติก PET ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อแจกให้พนักงาน ในปี 2564 ที่ผ่านมา ผลิตเสื้อจากขวด PET 7,900 ขวด (กว่า 120 กิโลกรัม) ได้ประมาณกว่า 500 ตัว และในปีนี้ ผลิตเสื้อจากขวด PET อีกจำนวน 760 ตัวโดยจะแจกเป็นสวัสดิการเสื้อพนักงานของบุคลากรในธุรกิจสัตว์น้ำ และใช้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ

ขณะเดียวกันสถานประกอบการของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับทะเลยังได้ร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อจัดการปัญหาขยะชายฝั่งและขยะทะเลมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงเพาะฟักลูกกุ้งตะวันในจังหวัดพังงาจับมือภาครัฐ และชุมชน จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดในพื้นที่เป็นประจำต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และระยอง ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งอาหารที่มั่นคงของชุมชนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีในปีนี้บริษัทฯ ได้ต่อยอดดำเนิน “โครงการกับดักขยะทะเล” โดยนำร่อง พื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร หนึ่งในพื้นที่ดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปันป้อง ป่าชายเลน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดการขยะทะเลยั่งยืน ผ่านการสร้างรูปแบบการจัดการขยะทะเลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับชุมชน นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มขยะทะเล สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งตลอด 5 เดือนแรกของปี 2565 นี้ ชุมชนสามารถรวบรวมขยะชายฝั่งและทะเลในพื้นที่ชุมชนบางหญ้าแพรกแล้วเป็นจำนวน 2,850 กิโลกรัม ซึ่งขยะส่วนนี้ได้ถูกคัดแยกและนำขายให้กับคนรับซื้อขยะ เพื่อเป็นรายได้ในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน ส่วนขยะทั่วไปทางเทศบาลจะนำไปกำจัดตามแนวทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Back to top button