BTS ปักเป้าปี 65/66 ธุรกิจ “MOVE-MIX” แตะ 1.37 หมื่นลบ. ยันสัมปทาน “สายสีเขียว” ไม่กระทบ
BTS กลับมาคึกหลังโควิดคลี่คลาย ตั้งเป้ารายได้ปี 65/66 เติบโตจากกลุ่มธุรกิจ MOVE-MIX ฟื้นตัว รองรับนทท.ต่างชาติหลังเปิดเมือง พร้อมแจงความคืบหน้าโครงการใหม่ ยันสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่กระทบ
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลประกอบการรอบปี 2565/66 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2566) จะเติบโตดีกว่าปีก่อน โดยธุรกิจกลุ่ม MOVE ตั้งเป้ารายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ไว้ที่ 6,700 ล้านบาท หรือเติบโต 6% จากงวดกันของปีก่อนที่ทำได้เพียง 6,300 ล้านบาท
ขณะเดียวกันมีการรับรู้รายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ที่ดีขึ้น หลังปัจจุบันจำนวนผู้โดยสาร (ridership) จากรถไฟฟ้าสายหลักกลับมาสู่ระดับ 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และคาดว่าหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาน่าจะสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดได้ รวมถึงคาดว่ารายได้จากดอกเบี้ยรับที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาท จากงวดปีก่อนที่อยู่ระดับ 3,300 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจ MIX ตั้งเป้ารายได้จากบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ที่ 6,500-7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์งวดปีก่อนที่อยู่ระดับ 3,800-4,000 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนคนที่ออกมานอกบ้านเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ยอดใช้จ่ายที่เข้ามาในธุรกิจสื่อนอกบ้านฟื้นตัวมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสื่อโฆษณาที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจขณะที่ความคืบหน้าของโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ยังอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในพื้นที่ จะเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มากของประเทศ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ร่วมเข้าซื้อซองประมูลไปแล้ว
นายสุรยุทธ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะได้รับการต่อสัญญาสัมปทานใหม่หรือไม่นั้น บริษัทฯ ยืนยันว่าตอนนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ BTS เนื่องจากในปัจจุบัน สัมปทานเดิมยังมีอายุไปถึงปี 2572 หรือเหลืออีก 7 ปี และบริษัทยังมีสัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงทั้งเส้นทางอยู่อีกด้วย
อย่างไรก็ตามจากนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการคนใหม่ของกทม. มองว่าเป็นเรื่องค่าโดยสารของส่วนต่อขยาย 2 ที่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการเก็บค่าโดยสารเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าโดยสารในสัมปทานเดิมที่มีอยู่ ส่วนการต่อสัมปทานเดิมบริษัทไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม แต่เนื่องจาก กทม. รับส่วนต่อขยาย 2 มาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และมีหนี้มาด้วย รวมถึงมีสัญญาจ้างให้ BTS เดินรถและติดตั้งงานระบบ ซึ่งปัจจุบันกทม.ค้างจ่ายบริษัทประมาณ 40,000 ล้านบาท จึงอยากให้กทม.ชำระหนี้ให้กับ BTS โดยเร็ว