“ตะปูไทย” รอดภาษีนำเข้า 0.04–0.10% หลังผลสอบสหรัฐฯ ไม่พบรัฐหนุนส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยผลไต่สวนมาตรการตอบโต้การอุดหนุนของสหรัฐฯ ไม่พบผู้ประกอบการ “ตะปูไทย” ถูกกล่าวหาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในการส่งออกเกินที่กำหนด ขณะที่ โอมาน ตุรกี อินเดีย และศรีลังกา โดนเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด


นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยจากกรณีที่ไทยและอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย โอมาน ตุรกี อินเดีย และศรีลังกา ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เปิดไต่สวนมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) “สินค้าตะปูเหล็ก” เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ ได้กล่าวหารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของไทยว่ามีพฤติกรรมให้การอุดหนุน (Subsidy) ผ่าน 13 โครงการ อาทิ โครงการสิทธิประโยชน์ในการลด/ยกเว้นภาษีบางประการของ BOI โครงการเงินกู้สำหรับการส่งออกของ EXIM Bank หรือโครงการแทรกแซงค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศ โดยมีลักษณะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ส่งออกสินค้าตะปูเหล็กเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ

โดยกรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานกลางผู้รับผิดชอบในการดำเนินการแก้ต่างการใช้มาตรการ CVD ในกรณีดังกล่าว ได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน เพื่อร่วมจัดทำข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ โดยในผลชั้นต้นปรากฏว่า สัดส่วนการให้การอุดหนุนใน “สินค้าตะปูเหล็ก” ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.04 – 0.10 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ระดับที่ต่ำมาก จนเข้าข่ายว่าไม่มีการอุดหนุน (De minimis) ส่งผลให้ในชั้นนี้ การนำเข้า “สินค้าตะปูเหล็ก” จากไทย จึงไม่ต้องวางหลักประกันอากร แต่อีก 4 ประเทศ พบว่ามีอัตรา CVD ดังนี้ โอมาน ร้อยละ 2.49 ตุรกี ร้อยละ 1.33 – 3.88 อินเดีย ร้อยละ 2.73 – 2.93 และศรีลังกา ร้อยละ 4.12 ซึ่งจากผลการไต่สวนเบื้องต้นทำให้ทุกประเทศ ยกเว้นไทยต้องวางหลักประกันอากร ในอัตราดังกล่าวสำหรับการส่งออก “สินค้าตะปูเหล็ก” ไปยังสหรัฐฯ

ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติระหว่างปี 2560 – 2564 พบว่า สหรัฐ เป็นตลาดส่งออก “สินค้าตะปูเหล็ก” ที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด โดยมูลค่าการส่งออก“สินค้าตะปูเหล็ก” จากไทยไปสหรัฐ ในปี 2564 อยู่ที่ 2,355 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 83.72% ของการส่งออกตะปูทั้งหมดจากไทย ขณะที่สหรัฐ นำเข้าสินค้าตะปูเหล็กจากไทยในช่วงเวลาเดียวกัน มูลค่าสูงสุดเป็นลำดับที่ 5 หรือคิดเป็น 6.38% รองจาก จีน โอมาน ไต้หวัน และแคนาดา

ดังนั้นการที่ไทยไม่ถูกเรียกเก็บหลักประกันอากรจะส่งผลให้เราสามารถรักษาตลาดตะปู และปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าในสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าตะปูเหล็กไทย นอกจากนี้ การที่โอมาน ตุรกี อินเดีย และ ศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สำคัญของสินค้าตะปูในสหรัฐฯ ล้วนถูกพิจารณาให้ต้องวางหลักประกันอากรในการนำเข้า ยิ่งเป็นการสร้างแต้มต่อให้ไทยทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมานำเข้า“สินค้าตะปูเหล็ก” จากไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับขั้นตอนต่อไปของการไต่สวนมาตรการ CVD นั้น ภายหลังการประกาศผลชั้นต้นแล้ว สหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Verification) ก่อนประกาศผลการพิจารณาการไต่สวนชั้นที่สุด (Final Determination) ประมาณเดือนกันยายน 2565 ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถรักษาอัตราอากรดังกล่าวได้

Back to top button