“ดาวโจนส์” รูด 700 จุด หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ พ.ค. พุ่ง 8.60% หวั่นเฟดขึ้นดบ.แรง
"ดาวโจนส์" รูด 700 จุด หวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง หลังเงินเฟ้อ เดือนพ.ค. พุ่ง 8.60% สูงสุดรอบ 40 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (11 มิ.ย. 2565) ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 718.27 จุดในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้การซื้อขายในตลาดยังได้รับผลกระทบ หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
โดย ณ เวลา 00.42 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,554,52 จุด ลบ 718.27 จุด หรือ 2.23%
ทั้งนี้หุ้นทุกกลุ่มในตลาดร่วงลงในวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่หุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งมักได้รับอานิสงส์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
นอกจากนี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.1% ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีในวันนี้
ทั้งนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ด้านนักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลยส์ระบุว่า เฟดมีเหตุผลที่ดีที่จะสร้างความประหลาดใจต่อตลาดในสัปดาห์หน้าด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดไว้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในวันนี้
โดยก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.
อย่างไรก็ดี ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 5% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 19% เมื่อวานนี้
โดยก่อนหน้านี้ เฟดได้เริ่มต้นวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค. ก่อนที่จะปรับขึ้น 0.50% ในเดือนพ.ค. ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี2524 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
สำหรับดัชนี CPI ดังกล่าวสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าระดับ 8.5% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524
นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ0.7%
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น0.6% ในเดือนพ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 50.2 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 58.5 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพ.ค.
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตต่างปรับตัวลง
อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล