พาราสาวะถี
ยื่นกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ยื่นกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามที่คาดหมายไปก่อนหน้านี้ โดยหนนี้นอกจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว มีรัฐมนตรีถูกจับขึ้นเขียงด้วย 10 คน นำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรอบนี้จะเป็นการจับพี่น้องแก๊ง 3 ป.มาขึงพืดเพื่อประจานการเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องและขยายแผลความขัดแย้งของสามพี่น้อง
สำหรับรัฐมนตรีรายอื่นที่ถูกยื่นซักฟอก ประกอบไปด้วย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
แน่นอนว่า เนื้อหาที่ประกอบการยื่นซักฟอกนั้นจะเป็นการบรรยายในภาพกว้างไม่ได้มีรายละเอียดในสิ่งที่จะอภิปราย โดยภาพรวมก็พอจะคาดเดาได้ สิ่งที่ใช้กล่าวหาผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นในแง่ของความรู้สึกของคนส่วนใหญ่อาจได้ แต่หากไร้ซึ่งข้อมูลเอาผิดก็เกรงว่าฝ่ายค้านจะถูกตีกินเอาได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏในร่างญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น มีหลายประโยคที่ถือเป็นวรรคทองทางการเมืองที่สามารถทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่ถูกโจมตีในสนามเลือกตั้งได้
การฉายภาพการทำงานของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจผ่านญัตติซักฟอกหนนี้ มุ่งชี้ให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาร่วม 8 ปีที่บริหารประเทศมาในฐานะนายกรัฐมนตรีผิดพลาดล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับประเทศ ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนได้เลย ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นต้นตอที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่มีความซับซ้อน ขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม ยาเสพติด การทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนในชาติแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิม
ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้และฝ่ายค้านต้องมีหลักฐานประเภทจับให้มั่นคั้นให้ตายก็คือ การชี้ว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่ามีสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น มีอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรมและผ่านกระบวนการตรวจสอบมาแล้วบ้าง ไม่ใช่การใช้ความรู้สึกเพื่อให้คนที่ได้ฟังมีความเชื่อหรือคล้อยตามในสิ่งที่พูดโดยไร้หลักฐาน เช่นนี้ก็ไม่มีฤทธิ์เดชที่จะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและบริวารสะเทือนได้
ที่น่าสนใจ หากเพื่อไทยในฐานะที่เคยบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน บวกกับความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจและการเงินการคลังของ ส.ส.ก้าวไกลบางส่วน ต้องชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าข้อกล่าวหาที่ว่าการใช้จ่ายงบประมาณมิได้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง มุ่งแต่ก่อหนี้เพื่อแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่สนใจต่อภาระหนี้สาธารณะและหนี้สินต่อหัวของประชาชน จนเรียกได้ว่า “เป็นยุคก่อหนี้มหาศาลเพื่อนำมาผลาญโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชน” นั้น มันมีการดำเนินการอย่างไร หรือการซุกหนี้ที่ไม่เปิดเผยตามที่มีการเปิดข้อมูลกันไปก่อนหน้านี้อย่างไร
ขณะเดียวกัน ข้อกล่าวหาในการซักฟอกอนุทินก็เป็นโจทย์สำคัญที่ฝ่ายค้านจะต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่ประจักษ์ มิเช่นนั้น จะกลายเป็นเพียงการอภิปรายเพื่อแก้แค้นจากการที่พรรคของตัวเองถูกดูด ส.ส.ไปต่อหน้าต่อหน้า เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยก็อยากรู้เหมือนกันว่า พฤติกรรมและการกระทำที่ทำให้ ส.ส.จากทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลเปลี่ยนสีเสื้อไปสังกัดค่ายภูมิใจไทยนั้นได้อะไรเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าแค่การกล่าวหา เพราะอย่าลืมว่าการย้ายพรรค หรือถูกบีบให้ย้ายนั้นมีมาช้านาน ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งยุคที่ไทยรักไทยเรืองอำนาจด้วย
ความจริงสิ่งที่ฝ่ายค้านระบุในญัตติซักฟอกอนุทินที่ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้จิตสำนึกของการเป็นนักการเมืองที่ดี มีพฤติกรรมทำลายระบบการเมืองด้วยการรู้เห็นเป็นใจ สนับสนุนการใช้เงินและผลประโยชน์เพื่อมุ่งดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองของตนโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ระบบการเมืองถอยหลังไปสู่ “ยุคการใช้เงินและผลประโยชน์สร้างฐานอำนาจทางการเมือง” อันถือเป็นธุรกิจการเมืองที่ทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย เปลี่ยนจากระบบคุณธรรมนำการเมืองเป็นใช้เงินและผลประโยชน์นำการเมือง
โดยหลักการถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับการเมืองในยุคปฏิรูป แต่คำถามสำคัญคือ นักเลือกตั้งทั้งหลายสามารถทำได้ด้วยการเข้าสู่สนามการเมืองจากการยึดหลักการ อุดมการณ์เป็นที่ตั้ง ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ไม่มุ่งที่จะถอนทุนคืนได้กันทั้งหมดหรือไม่ อย่าลืมเป็นอันขาดข้อเท็จจริงในพื้นที่เรื่องการของาน จัดสรรปันส่วนงบประมาณจากโครงการก่อสร้างทั้งหลาย ก็มีชื่อของเครือญาตินักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าไปเกี่ยวข้องแทบจะทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ย้ำมาตลอดและทุกครั้งที่มีการซักฟอกรัฐบาลคือเรื่องข้อสอบรั่ว เท่าที่รู้เวลานี้รัฐมนตรีบางรายที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายนั้น เตรียมสคริปต์แก้ข้อกล่าวหาไว้ล่วงหน้าเพราะล้วงความลับมาได้แล้ว เพราะได้รับข้อสอบมาจากแหล่งข้อมูลชั้นดี ยิ่งประสาพวกที่เคยอยู่ร่วมชายคากันมายิ่งคุยกันได้ง่าย และรู้ดีว่าใครต้องจ่ายกันแบบไหน เท่าไหร่ บทสรุปของฝ่ายค้านท้ายญัตติ “รวยกระจุก จนกระจาย” และ “ค่าครองชีพสูง คุณภาพชีวิตต่ำ” เป็นความจริงที่เจ็บปวดของประชาชน แต่นักเลือกตั้งไม่ได้คิดเช่นนั้น ทุกอย่างคือผลประโยชน์ที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา