“ดาวโจนส์” ทรุด 700 จุด หวั่นเศรษฐกิจถดถอย หลังหลาย “แบงก์” ทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ย
“ดาวโจนส์” ทรุด 700 จุด หลุดแนว 30,000 นิวโลว์รอบ 1 ปี หวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังหลาย "แบงก์" ทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 700 จุด หลุดแนว 30,000 แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยตัวเลขคนว่างงานที่สูงเกินคาด และตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านที่ดิ่งลงในเดือนพ.ค.
โดย ณ เวลา 21:41 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 29,964.42 จุด ลบ 704.11 จุด หรือ 2.30%
ส่วนดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ได้เข้าสู่ภาวะหมีแล้ว โดยดิ่งลง 21% และ 32% ตามลำดับจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนม.ค.2565 และพ.ย.2564 ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 17% จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนม.ค.2565
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537
ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564
ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 15 ปี ขณะที่ธนาคารกลางฮังการี บราซิล และไต้หวันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน
นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี
อีกทั้งตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีดีดตัวสูงกว่าอายุ 10 ปีและ 30 ปี หลังจากที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้การเกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว เป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สำหรับที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
โดยก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา
ขณะที่การประชุมวานนี้ เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% ในไตรมาส 1/2565 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 215,000 ราย
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 14.4% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 1.549 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2564 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงสู่ระดับ 1.68 ล้านยูนิต การเริ่มต้นสร้างบ้านได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และการขาดแคลนแรงงาน