พาราสาวะถี
เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจมีการวางองคาพยพเพื่อการอยู่ยาวอย่างแน่นหนา ดังนั้น การจะโยกย้ายเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของตัวเองจึงไม่มีอะไรมาทำให้ระคายเคืองผิวได้
ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไรกับการที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ จะมีการมอบหมายให้ พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช. เข้ามากำกับดูแลแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานและอาหาร แทนที่หน้าที่เหล่านั้นควรจะเป็นเรื่องของรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน พาณิชย์ คลัง หรือแม้แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะตั้งแต่การเป็นรัฐมนตรีในสีเสื้อ หัวหน้า คสช.ก็มีการใช้สูตรนี้มาโดยตลอด บนพื้นฐานของสิ่งที่อ้างว่า “ความมั่นคง”
เมื่อใช้ความมั่นคงเป็นตัวตั้ง ทุกเรื่องจะต้องอาศัยมือไม้ที่ไว้ใจได้ หลังจากที่ตัวเองพ้นตำแหน่งของ ผบ.ทบ.มาแล้ว สวมหัวโขนผู้นำประเทศ ผู้ที่จะเข้ามารับใช้ใกล้ชิดเพื่อแบกภาระดูแลความมั่นคงให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงย่อมหนีไม่พ้นเลขาธิการ สมช. ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้น มีการโยกข้ามห้วยข้ามหัวกันมาตลอด ด้วยเหตุผลเดียวคือต้องเป็นคนที่ท่านผู้นำไว้วางใจได้เท่านั้น ทั้งที่ยุคของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปมย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นตำแหน่งนี้ ทำให้กระเด็นตกเก้าอี้มาแล้ว
เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจมีการวางองคาพยพเพื่อการอยู่ยาวอย่างแน่นหนา ดังนั้น การจะโยกย้ายเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของตัวเองจึงไม่มีอะไรมาทำให้ระคายเคืองผิวได้ คำถามสำคัญคือ การเดินเกมด้วยสูตรที่เลขาธิการ สมช.เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน มันสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วทันสถานการณ์หรือไม่ คำตอบจากกรณีการระบาดของโควิด-19 ที่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและวัคซีนช่วงที่ความรุนแรงของโรคหนักหน่วงคือตัวชี้วัดที่ชัดเจน
การเลือกที่จะใช้รูปแบบการบริหารงานแบบนี้ ก็ถูกต้องแล้วที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะเที่ยวพูดบนเวทีต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องไหนในฐานะผู้นำประเทศตนก็ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ในอดีตอาจโยนให้เป็นภาระของรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่ในยุคนี้เมื่อมีการรวบอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ เมื่อมีปัญหาเวลาถูกรุมสกรัมก็ไม่ควรที่จะโอดโอยว่า ปล่อยให้ตัวเองรับเละอยู่คนเดียว อย่างไรก็ตาม การที่มีการตั้งเลขาฯ สมช.มาดูแลเรื่องพลังงานนั้น ก็เท่ากับเป็นการยืนยันความถูกต้องของฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าทำไมจึงไม่ซักฟอก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ข้อมูลที่มีการปูดกันเบื้องต้นถึงความเชื่อมโยงที่นำไปสู่การบริหารงานผิดพลาด ล้มเหลว และไม่แน่ว่าจะรวมไปถึงเรื่องการทุจริตด้วยนั้น มองได้ไม่ยากว่า ท้ายที่สุดก็จะมีคนใกล้ตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจติดร่างแหกันระนาว ส่วนรัฐมนตรีพลังงานแม้จะไม่ได้อยู่ในลิสต์ของคนถูกซักฟอก แต่ก็อาจจะมีการเชื่อมโยงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน ด้วยภาพเช่นนี้จึงเป็นเหตุผลที่ช่วยไปอธิบายต่อว่า ทำไมทีมเศรษฐกิจชุดดรีมทีมของรัฐบาลเผด็จการ คสช.ที่ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐนาวาสืบทอดอำนาจ ภายใต้การนำของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถึงไม่สามารถสร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับได้
ส่วนข้อแนะนำจากกระทรวงพลังงานว่าด้วยการใช้เตามหาเศรษฐีนั้น หลังจากที่มองกันอย่างรอบด้านแล้ว คงไม่ใช่ความไร้กึ๋นของฝ่ายที่เสนอ หรือแม้จะเป็นเจตนาแต่ในทางการข่าวเชิงยุทธการว่าด้วยการเบี่ยงเบนประเด็น นี่ก็ย่อมเป็นการจุดพลุเพื่อให้เกิดการทุ่มเถียง จนเลิกที่จะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาใหญ่อย่างราคาพลังงานและต้นทุนชีวิตของประชาชนที่ต้องแบกรับกันหนักข้อขึ้นทุกวัน เข้าทำนองสร้างเรื่องหลอกให้คนลืมเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาสำคัญ
ความจริงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่รุมเร้า แม้ล่าสุดทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. จะออกมาส่งสัญญาณถึงตัวเลขจีดีพีปีนี้ที่จะโตได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ โดยยกปัจจัยบวกหลายด้าน ขณะที่รัฐบาลโดยผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็อ้างปัญหาโควิดและสงครามรัสเซีย ยูเครน และที่พูดซ้ำย้ำบ่อย ๆ เป็นเรื่องของห่วงโซ่ที่ได้รับผลกระทบกันทั่วโลก ซึ่งคงจะลืมไปว่านั่นเป็นต้นเหตุที่ใครก็รู้ ที่คนส่วนใหญ่อยากรู้คือแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร
เอาแค่เรื่องของปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอยู่ในขณะนี้ ถามว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรู้หรือไม่ว่าเกิดจากเหตุใด ทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างไร เอาที่เข้าใจแบบชาวบ้านเลยก็คือ เงินบาทอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หมายความว่าเศรษฐกิจไทยแย่กว่าอเมริกา เมื่อเอาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเทียบสกุลเงินอื่นก็พบว่าอ่อนค่ากว่า ซึ่งหมายถึงว่าเศรษฐกิจของพี่เบิ้มโลกมีปัญหา จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ แต่เป็นสิ่งที่ผู้นำไทยในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะต้องกลับมาทบทวนมาตรการรับมือในประเทศอย่างเร่งด่วนที่สุด
บรรดากูรูทั้งหลายเห็นว่ามาตรการกระตุ้น หรือช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคส่วนที่จำเป็นนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ประเภทกู้มาแจกนั้นควรต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเกรงกันว่ามันจะซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญคือการเพิ่มรายได้ให้ทุกภาคส่วนที่จะต้องมีแผนชัดเจน และเร่งปฏิบัติให้เกิดผล การเปิดประเทศที่หวังเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาเติมนั้น หากทิศทางโควิดดีขึ้นต่อเนื่องจริงก็น่าจะสดใส แต่ล่าสุดไม่น่าไว้วางใจเสียแล้ว
เพราะ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือแอดมิตนั้นเพิ่มขึ้นมาถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นยังไม่น่าห่วงเมื่อทางหมอการเมืองต่างยืนยันตรงกันว่าบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมรับมือและเอาอยู่ สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้จากการให้ข้อมูลของหมอสมศักดิ์ก็คือ ในรายงานของต่างประเทศที่ทดสอบกับเซลล์ปอดยืนยันว่าโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ลงปอดมากกว่า BA.1 และ BA.2 นั่นหมายถึงว่าแนวโน้มจึงน่าจะรุนแรงกว่า จุดนี้แหละที่จะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หวังว่าจะกระเตื้องแต่ไม่รู้เมื่อไหร่ คือโจทย์ที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกุมขมับ ถึงกับไม่ยอมไปตอบกระทู้ถามสดของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในสภามีการมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก็อ้างไม่ว่าง จน สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ต้องฝากสารถึงท่านผู้นำแรง ๆ “ขอกำชับว่าการมอบหมายอย่าสั่งเหมือนทหาร คือสั่งไปแล้วถือว่าจบกัน แบบนั้นไม่ใช่ แต่ขอให้สั่งเหมือนนักการเมือง ต้องสอบถามกันหน่อยว่าว่างหรือไม่ ตอบได้หรือไม่ แบบนี้ไม่เรียกว่ามอบหมาย เพราะมอบหมายแล้วไม่มาตอบ ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ” แต่ไม่รู้จะสำเหนียกกันหรือเปล่า