TLI เคาะราคาไอพีโอ 16 บ. ระดมทุนเฉียด 4 หมื่นล้าน จับตา “ฟาสท์แทร็ค” เข้า SET50 อัตโนมัติ
“ไทยประกันชีวิต” เคาะราคาไอพีโอ 16 บาท มูลค่าระดมทุน 3.7 หมื่นล้าน จับตา "ฟาสท์แทร็ค" เข้า SET50 อัตโนมัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (24 มิ.ย. 65) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เข้าอยู่ในตลาด SET หมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต
โดยไทยประกันชีวิตขายหุ้นไม่เกิน 2,155 ล้านหุ้น ซึ่งมีแผนเสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวน 850 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 7.4% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,166,575,300 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 10.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
3.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 1.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
สำหรับหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายรวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกิน 18.8% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้
นอกจากนี้มีการจัดสรรหุ้นกรีนชูจำนวน 161 ล้านหุ้น หาก ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ มีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย อาจพิจารณาให้มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้แก่ผู้ลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 161,630,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 7.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี จำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchasers)
ล่าสุดมีการเคาะวันจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-14 ก.ค. 65 ซึ่งกำหนดระยะเวลาการเสนอขาย สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท และพนักงานบริษัท ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.65 ถึงวันที่ 6 ก.ค. 65
ส่วนทางด้านผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศ นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 11 ก.ค. 65 ถึงวันที่ 12 ก.ค. 65 และวันที่ 14 ก.ค. 65
โดยกำหนดราคาเสนอขายต่อประชาชนอยู่ที่ 16 บาทต่อหุ้น มูลค่าการเสนอขายไม่เกิน 34,481,102,400 บาท (ไม่รวมหุ้นส่วนเกิน) ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวนมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 37,067,182,400 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (par) 1 บาทต่อหุ้น และมูลค่าตามราคาบัญชี (book value) ณ วันที่ 31 มี.ค.65 อยู่ที่ 8.10 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ราคาเสนอขายพิจารณามูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Embedded Value) ซึ่งเป็นการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อที่จะหามูลค่าผลประโยชน์ที่มีต่อผู้ถือหุ้นจากกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจประกันชีวิต โดยอ้างอิงจากสมมติฐานต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากธุรกิจใหม่ในอนาคต
โดยมูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Embedded Value) ของบริษัท ณ สิ้นปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.64 อยู่ที่ 142,277.30 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 10,600,000,000 หุ้น จะได้มูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Embedded Value) ต่อหุ้น (Embedded Value Per Share) เท่ากับ 13.42 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Price to Embedded Value Ratio : P/EV) ซึ่งจะแสดงให้เห็นมูลค่ายุติธรรมของธุรกิจประกันชีวิต โดยรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจประกันชีวิต โดยอ้างอิงจากสมมติฐานต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว และสะท้อนถึงมูลค่าของกรมธรรม์ที่บริษัทขายในอดีตและยังให้ความคุ้มครองต่อผู้ถือกรมธรรม์ประมาณ 1.19 เท่า
รวมถึงหากพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 31 มี.ค.65 ซึ่งเท่ากับ 85,909.63 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 11,450,000,000 หุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวน 850,000,000 หุ้น) จะได้มูลค่าตามบัญชีสุทธิต่อหุ้น (Book Value Per Share) เท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio : P/BV) ประมาณ 2.13 เท่า
นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษีในแต่ละรอบปีบัญชี
สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินโดยประมาณ 13,600 ล้านบาท แยกเป็น 1.การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการทำการตลาด 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินภายในปี 2565-2567 2.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร 5,400 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินภายในปี 2567-2569 และ 3.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุนและสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ด้านนายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS กล่าวว่า การปรับพอร์ตหุ้นเข้าออก SET50 ในช่วงที่เหลือของปียังไม่จบ เพราะคาดว่าจะมี หุ้น IPO ขนาดใหญ่ถึง 2 บริษัท มีโอกาสเข้าจดทะเบียนและ Fast Track เข้าดัชนี SET50 ได้ ในช่วงครึ่งปีหลัง โดย 1 บริษัทมูลค่าระดมทุนขนาดใหญ่อย่าง “ไทยประกันชีวิต” ที่อาจจะเบียดให้หุ้นมี Market Cap เล็กสุด 2 อันดับสุดท้ายใน SET50 ตกชั้นมาอยู่แค่ดัชนี SET100 เท่านั้น
โดยเบื้องต้นประเมินว่าปัจจุบันมีหุ้นอยู่ในความเสี่ยงตกชั้น SET50 อยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC อยู่ในอันดับ 50 มาร์เก็ตแคป 63,755 ล้านบาท, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD อยู่ในอันดับ 49 มาร์เก็ตแคป 66,597 ล้านบาท มีความเสี่ยงสูงสุด