“ทองคำนิวยอร์ก” ปิดบวก 50 เซนต์ รับแรงหนุน “ดอลลาร์” อ่อนค่า
สัญญาทองคำตลาด COMEX เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.03% รับแรงหนุนดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (24 มิ.ย.65) โดยได้แรงหนุนจากการที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้กระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 1,830.3 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองคำลดลง 0.6% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 8.3 เซนต์ หรือ 0.39% ปิดที่ 21.125 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 903.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 30.20 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 1,854.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.23% สู่ระดับ 104.1870 ในวันศุกร์
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น
นอกจากนี้ แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนสัญญาทองคำ หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 50.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.2 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.2
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 10.7% สู่ระดับ 696,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 588,000 ยูนิต และเมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 5.9% ในเดือนพ.ค.
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวเมื่อวันศุกร์ระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับธนาคารกลางและอัตราเงินเฟ้อที่จัดโดยยูบีเอสในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในขณะนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในภายหลัง