กองทุนประกันฯ เร่งหาแหล่งทุนหลังยอดหนี้ “เจอจ่ายจบ” พุ่ง 6 หมื่นล้าน
กองทุนประกันวินาศภัย เตรียมหาแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่อง หลังแบกหนี้ 4 บริษัทประกันภัยที่ต้องปิดตัว เพราะโควิดเจอจ่ายจบ จำนวน 7 แสนราย กว่า 6 หมื่นล้านบาท พร้อมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มการนำส่งเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยเข้ากองทุน
นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า กองทุนประกันวินาศภัย ได้ประเมินเบื้องต้นจะมีภาระหนี้ที่ได้รับจากการที่ 4 บริษัทประกันภัยปิดตัวลงหลังได้รับผลกระทบจากประกันโควิดเจอจ่ายจบ ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท และมีเจ้าหนี้ผู้เสียหายมากกว่า 7 แสนคำขอ ซึ่งประกอบด้วย ลูกหนี้จาก บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) มียื่นเข้ามา 1.6 แสนคำขอ มูลหนี้ 4,450 ล้านบาท บริษัท เดอะ วัน จำกัด (มหาชน) ประกันภัย มี 1.7 แสนคำขอ ยอดหนี้ 1.34 หมื่นล้าน ส่วน บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทางกองทุนฯ จะสรุปตัวเลขมูลหนี้ได้ชัดเจนอีกครั้ง หลังวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ หลังจะมีการปิดยื่นรับคำขอทวงหนี้อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ แม้มูลหนี้โดยรวมจะสูงมาก แต่หน้าที่ของกองทุนฯ จะหาเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ และผู้เสียหายให้ครบทุกรายตามกฎหมาย โดยเร็วๆ นี้ จะมีการนัดหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อหาทางออกในการแหล่งเงินเข้ามาเติมในกองทุน ให้เพียงพอต่อการชำระเจ้าหนี้ต่างๆ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ทรัพย์สินและสภาพคล่องของกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6,000 ล้าน โดยทาง สบน.จะมีการนำหนี้ของกองทุนฯที่จะต้องจัดหา เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีด้วย
นายชนะพล ยังระบุว่า กองทุนประกันวินาศภัย เตรียมเสนอให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับเพิ่มการนำส่งเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยเข้ากองทุนฯ ให้เต็มเพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 0.5% ของเบี้ยประกันที่ขายได้ จากปัจจุบันที่เก็บอยู่แค่ครึ่งเดียวหรือ 0.25% เพื่อให้กองทุนมีรายได้นำมาทยอยชำระหนี้คืนได้เร็วขึ้น โดยประเมินว่าหากเก็บเงินสมทบเต็มเพดานจะมีรายได้เพิ่มจากเดิมปีละ 600 ล้านบาท เป็น 1,200 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้ทันที โดยเสนอขออำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะพิจารณาลดภาระความเดือดร้อนของบริษัทประกันวินาศภัย ด้วยการลดนำส่งเงินสมทบเข้าส่วนอื่น เช่น บริษัทกลางฯ หรือนำส่งเข้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.หรือให้ขยายเวลาการนำส่งออกไปเป็นการชั่วคราวได้
นอกจากนี้กองทุนฯ จะเพิ่มความร่วมมือกับ คปภ. รวมถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อร่วมแชร์ข้อมูล และร่วมกันทำงานให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถจ่ายหนี้เคลมประกันแก่เจ้าหนี้ได้เร็วกว่าเดิม เช่น ปัจจุบันสามารถจ่ายได้ 1,000 คน อาจจะเพิ่มเป็น 5,000 คนต่อเดือน ซึ่งกองทุนฯ จะพยายามทำให้เร็วที่สุด