เปิดสูตรคำนวณ “ชัชชาติ” แจงที่มาค่ารถไฟฟ้า 59 บ. แก้ปัญหาระยะสั้น

เปิดสูตรคำนวณ “ชัชชาติ” แจงที่มาค่ารถไฟฟ้า 59 บ. แก้ปัญหาระยะ ซึ่งเรื่องส่วนต่อขยายเป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงประเด็นแผนเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส ที่รวมกับช่วงส่วนต่อขยาย ซึ่งระบุเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ราคาควรอยู่ที่ 59 บาท ว่า มีหลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน

“ปัญหารถไฟฟ้าคือ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการขณะนี้ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าบริการ ยังเปิดวิ่งฟรี จากข้อมูลของทีมผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมาว่าควรจัดเก็บค่าบริการตลอดสายขั้นสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ดังนั้นราคานี้ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นแผนระยะสั้น” นายชัชชาติ กล่าว

สำหรับตัวเลข 59 บาท ที่รับข้อเสนอมานั้น กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณาข้อมูลอยู่ คาดว่าจะใช้สูตรการคำนวณ (14+2X) X คือ จำนวนสถานีที่นั่ง จะไม่ให้เกินค่าบริการสูงสุดเดิมที่ระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

“59 บาท เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นของส่วนต่อขยาย ที่ผ่านมา กทม.ต้องจ่ายค่าเดินรถคิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระยะยาวจะต้องนำเรื่องสัญญาสัมปทานมาพิจารณาด้วย เพราะสัญญาจะหมดในปี 2572 จากข้อมูล ส่วนต่อขยายมีผู้ใช้บริการร้อยละ 27 ซึ่งนั่งฟรี แต่คนอื่นต้องมาช่วยจ่าย ต้องยอมรับว่า กทม.นำภาษีของทุกคนมาจ่าย เท่ากับว่าคนที่ไม่ได้นั่งก็ต้องจ่าย ปัญหาอีกอย่างคือ คนให้บริการรถสาธารณะใต้แนววิ่งรถไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเพราะรถไฟฟ้านั่งฟรี คนให้บริการด้านล่างทำมาหากินไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ” นายชัชชาติ กล่าว

อย่างไรก็ดีราคา 59 บาท ที่ตั้งไว้นั้นเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น โดยเรื่องส่วนต่อขยายเป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่าค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25-30 บาท ไม่ได้หมายความว่า นั่งจากสถานีต้นทางถึงปลายทางเป็นราคานี้ แต่คิดจากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนใช้บริการ เดิมคิดค่าเฉลี่ย 8 สถานี แต่ล่าสุด สจส.คำนวณไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 11 สถานี

Back to top button