สธ. ยอมรับ “BA.4-BA.5” ทำยอดโควิดพุ่ง-ขอ ปชช. อย่าตื่นตระหนก
กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มทำให้ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แพทย์และโรงพยาบาลยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วงวันที่ 25 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565 พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยจากการสุ่มตรวจทั้งหมด 946 ตัวอย่าง พบ BA.4 และ BA.5 ทั้งหมด 489 ราย คิดเป็น 51.7%, BA.2 ทั้งหมด 447 ราย คิดเป็น 47.3% และ BA.1 และสายพันธุ์ดั้งเพิม (B.1.1.529) รวมทั้งหมด 12 ราย คิดเป็น 1.1%
จากแนวโน้ม BA.4 และ BA.5 มากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นาน BA.4 และ BA.5 จะครองพื้นที่การติดเชื้อของประเทศไทยแทนที่ BA.2 สำหรับการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์พบมากในกรุงเทพมหานคร และยังไม่พบในเขต 3, 8 และ 10 แต่เข้าใจว่าจะมีตัวอย่างที่เป็น BA.4 และ BA.5 เหมือนกันทั้งหมดแล้ว เพราะเป็นการสุ่มตรวจ
ทั้งนี้ ในการตรวจหาสายพันธุ์ ยังไม่ได้แยกระหว่าง BA.4 และ BA.5 เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เห็นความแตกต่างของทั้ง 2 สายพันธุ์มากนัก เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คล้ายกัน และหากจะต้องแยกสายพันธุ์จะต้องมีการตรวจเพิ่มอีกหนึ่งขั้นตอน โดยตั้งแต่ตรวจพบ BA.4 และ BA.5 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ไทยพบ BA.4 และ BA.5 แล้วประมาณ 1,000 ราย ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ไม่มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วนเป็นหลัก ถ้าสัดส่วนเยอะแปลว่าแพร่เร็ว
สำหรับเรื่องความรุนแรงของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอ และยังต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการจำแนกสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโอมิครอนที่มีอาการรุนแรง และ/หรือเสียชีวิต ทั้งหมดจำนวน 11 ราย พบ 36.4% เป็น BA.4 และ BA.5 และ 63.3% เป็น BA.2 อย่างไรก็ดีกลุ่มตัวอย่างยังมีจำนวนน้อยมาก จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ว่าโอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่
จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งตกใจเรื่อง BA.4 และ BA.5 เกินเหตุ เราอาจจะเห็นข้อมูลการนอนโรงพยาบาลมากขึ้น จากการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ที่มากขึ้น เพราะสามารถหลบภูมิ แพร่เร็ว และคนที่เคยเป็นโควิดแล้วติดเชื้อซ้ำได้ ทั้งนี้ต้องดูต่อไปว่าสัดส่วนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมาจาก BA.4 และ BA.5 หรือไม่ ตอนนี้กำลังพิสูจน์ว่ามันทำให้แพร่เร็ว และอาการหนักหรือไม่ ซึ่งถ้าทำให้อาการหนักขึ้น ก็อาจต้องมีมาตรการเพิ่มเติม สำหรับเรื่องความแตกต่างของอาการ กรมการแพทย์อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล
นพ.ศุภกิจ ยังย้ำว่า มาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ยังมีความจำเป็นในการลดการรับหรือเพิ่มเชื้อ ถึงแม้จะไม่ได้บังคับแล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน แนะนำว่าควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอเพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะมีในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) และผู้ที่ได้รับเข็มสุดท้ายมานานแล้วเกินกว่า 4 เดือน