เงินเฟ้อประเทศไทย 7.66%

แม้กระทรวงพาณิชย์จะเกรงอกเกรงใจรัฐบาลด้วยการรายงานว่าเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.65 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ตัวเลขก็ไม่เคยโกหก


ถึงแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะเกรงอกเกรงใจรัฐบาลด้วยการรายงานว่าเงินเฟ้อเดือน มิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ตัวเลขก็ไม่เคยโกหก เมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ที่ 7.66% ก็ถือว่าน่าตื่นตระหนกไม่ใช่น้อย

ถามว่าน่าตกใจแค่ไหน ต้องยอมรับว่ามากเกินควร

เพราะเงินเฟ้อขนาดนี้จะต้องใช้ยาสารพัดนึกได้เพียงแค่ขนานเดียวเท่านั้นเพื่อหยุดยั้งอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่มียาชนิดอื่นใด นั่นคือการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อขจัดเงินเฟ้อ ซึ่งแน่นอนว่าต่อให้ธปท. พยายามยืดเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ก็คงต้องขึ้นดอกเบี้ยนำร่องให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับดอกเบี้ยตามไปด้วย

ในรายงานประจำเดือน มิถุนายนล่าสุดหลังจากที่ กนง.ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอันเป็นดัชนีชี้ทิศทางของตลาดแบบไม่เป็นเอกฉันท์เพื่อให้ตลาดรับทราบว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรอผลของดัชนีสินค้าผู้บริโภค อันเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อทั้งขั้นพื้นฐานและทั่วไป

โดยทั่วไป  เงินเฟ้อในภาพรวมหมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าพิจารณาจากค่าของเงิน เงินเฟ้อ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจะซื้อของชิ้นเดิมนั้นต้องใช้เงินมากกว่าเดิม

แปลง่าย ๆ อีกแบบก็คือของแพงขึ้นนั่นเอง เพียงแต่จะวัดจากนี้ราคาสินค้าผู้บริโภค ในความหมายคือสินค้ามีน้อยกว่าอุปสงค์ของตลาด ดันราคาให้สูงขึ้น หรือจากปริมาณเงินที่เงินล้นตลาดมากกว่าปริมาณสินค้า

ทางแก้มีสองทางเลือกคือเพิ่มอุปทานสินค้าในตลาดให้เร็วกว่าการวิ่งขึ้นของราคา หรือไม่ก็ลดปริมาณเงินลงด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) เดือน มิถุนายน 2565 เท่ากับ 107.58 เมื่อเทียบกับเดือน พฤษภาคม 2565 (106.62) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.90 (MoM) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 1.40 (MoM) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.66 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรุนแรง มาจากราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลก น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83 และความช่วยเหลือของภาครัฐที่ล้มเหลว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ให้เหตุผลข้อนี้ (โดยเลี่ยงบาลีไปว่าเหตุที่ไม่ขึ้นมากกว่านี้เพราะว่าเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่พยายามช่วยเหลือประชาชน อย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพ ของประชาชน โดยคำนึงถึงการได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค)

แม้จะบอกว่าเงินเฟ้อที่รุนแรงเป็นผลมาจากปีก่อนฐานราคาสินค้าต่ำเกิน แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ยอมรับว่า เงินเฟ้อครั้งนี้เกิดจากทางด้านต้นทุนราคาวัตถุดิบเป็นสำคัญหรือ Cost-push inflation ซึ่งแก้ไขยากเพราะสินค้าที่ดันราคาสูงขึ้นเป็นสินค้าสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการผลิตทุกชนิด นั้นคือ น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 39.45% ค่าไฟฟ้าร้อยละ 45.41 และราคาก๊าซหุงต้มร้อยละ 12.63 ตามมาด้วยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น 6.42% ทั้งจากต้นทุนแฝงของโรงงาน และต้นทุนโลจิสติกส์

ที่น่าสนใจคือสินค้าที่กลุ่มเกษตรกรผลิตขึ้นมา เช่นข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลงร้อยละ 2.73 โดยเฉพาะราคาข้าวสารเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก และการจัดโปรโมชั่นตามห้างสรรพสินค้า แล้วราคากลุ่มผลไม้สดลดลงร้อยละ 2.56% ตามปริมาณผลผลิตที่มีค่อนข้างมาก สะท้อนว่าเกษตรกรจะยากจนลงจากการที่ผลผลิตราคาตกต่ำและค่าครองชีพสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งสะท้อนถึงราคาต้นทุน หรือราคาหน้าโรงงานสูงขึ้นมากกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงร้อยละ 7.66 แสดงว่าราคาหน้าโรงงานแพงกว่าราคาขายปลีก ซึ่งจะรอเป็นระเบิดเวลาในระยะต่อไป

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับลดลงตามเงินในกระเป๋าที่พร่องเร็วขึ้นโดยรวม อยู่ที่ระดับ 44.3 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.7 มีสาเหตุจาก ความกังวลของประชาชนต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งเกิดจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศพันธมิตรต่อประเทศรัสเซีย ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทย

สัญญาณของดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เชื่อแน่ว่าในการประชุมกนง.คราวต่อไป จะเลี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยยากแล้ว

(ยังมีต่อตอนถัดไป)

Back to top button