รมว.คลัง เตรียมหารือ “ธปท.-มหาดไทย” ขยายมาตรการกระตุ้น “ธุรกิจอสังหาฯ”

กระทรวงการคลัง เตรียมจะหารือกับ ธปท. และกระทรวงมหาดไทย ขยายเวลามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์สำคัญตัวหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในงาน PROPERTY INSIDE 2022 “ทางรอดอสังหาฯ หลังโควิด-ไฟสงคราม” ว่า จากที่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ กระทรวงการคลัง เตรียมจะหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงมหาดไทย ในการขยายเวลามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง และการผ่อนปรนมาตรการ LTV รวมถึงจะมีการหารือว่าจะมีมาตรการกระตุ้นอะไรบ้างที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้ต่อไป

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นับเป็นเครื่องยนต์สำคัญตัวหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่นเดียวกันภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักหรือปิดตัวลง มีคนตกงาน ขาดรายได้ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง และกระทบมาถึง demand ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลาง supply ที่ยังคงมีอยู่

“ทุกประเทศเผชิญปัญหาเดียวกันทั้งหมด แต่จะมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง…สัญญาณที่ดีคือ เมื่อโควิดคลี่คลาย มีการปลดล็อกต่างๆ ช่วยดึงท่องเที่ยวมามากขึ้น ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เคยบอกว่า ส่งออก ซึ่งก็แน่นอน รายได้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของ GDP รายได้ท่องเที่ยวจากเดิมก่อนโควิด 12% แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึงแล้ว ที่เหลือในประเทศต้องพึ่งการบริโภค กำลังซื้อกลับมาหรือไม่ มีผลต่อสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าคงทนถาวรประเภท ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอสังหาฯ ที่คิดเป็น 8-9% ของ GDP ถามว่า 3 ตัวนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ คำตอบมันชัดอยู่แล้ว” รมว.คลัง กล่าว

โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการจดจำนอง, มาตรการทางภาษี ในการลดภาษีเงินได้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาพักหรือทำงานในไทย ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ผ่อนคลายมาตรการ LTV ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด

นายอาคม กล่าวว่า ในปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณต่างๆ ดีขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์เองต่างเริ่มมีการปรับตัวจากภาวะกำลังซื้อที่ลดลง ด้วยการหันมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ และการประหยัดพลังงาน จึงทำให้เห็นโครงการที่อยู่อาศัยหลายแห่งมีการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานของกลุ่มคนสูงวัย รวมถึงผู้ที่ต้องการประหยัดพลังงาน และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะที่ภาครัฐได้เริ่มนำร่องโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ คือ โครงการรามาธนารักษ์ เพื่อรองรับกับสังคมผู้สูงวัย ตลอดจนมาตรการทางด้านภาษี ในการลดภาษีนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้ามารองรับสังคมผู้สูงวัย เช่น วีลแชร์

สำหรับการส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น นายอาคม กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กนง. ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร แต่หากจะขึ้นดอกเบี้ย ก็ต้องดูทิศทางตลาดการเงินด้วย รวมถึงไม่อยากให้การขึ้นดอกเบี้ยเป็นภาระกับผู้ประกอบการ และประชาชนมากจนเกินไป

“เรื่องดอกเบี้ยถือเป็นต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการ และประชาชน ส่วนเรื่องที่มีการวิจารณ์เกี่ยวกับขณะนี้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปต่างประเทศเยอะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น เรื่องนี้ ธปท.จับตาดูเป็นพิเศษ มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะต้องดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอีกครั้ง ขณะเดียวกันมีปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาสงคราม ทำให้ทุกประเทศเผชิญปัญหาเดียวกันหมด การดำเนินการทั้งหมดจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ” รมว.คลัง กล่าว

ส่วนการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากสถาบันการเงินนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ยอมรับว่ามีความกังวลในเรื่องสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

Back to top button