‘โบรกเกอร์’ ลำบาก.!?

เมื่อวอลุ่มเทรดเหือดแห้งอย่างนี้ กลุ่มโบรกเกอร์ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย เนื่องจากรายได้ค่านายหน้า หรือค่าคอมมิชชั่นก็หดหายไปตามวอลุ่มเทรด


ดูแล้วไม่สวยหรูเท่าไหร่ กับมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่เหือดแห้งลงเรื่อย ๆ โดยพบว่า 6 เดือนแรกปี 2565 วอลุ่มเทรดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 87,342 ล้านบาท และในเดือน มิ.ย. เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 71,693 ล้านบาท ลดลง 26.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยวอลุ่มเทรดของนักลงทุนรายย่อยเดือน มิ.ย. ลดลงเหลือ 26,824 ล้านบาท จากเดือน พ.ค. ที่มีวอลุ่มเทรด 29,992 ล้านบาท

ขณะที่ เปิดหัวไตรมาส 3/2565 มาวอลุ่มเทรดเหลือไม่ถึง 70,000 ล้านบาท ซ้ำร้ายบางวันต่ำ 50,000 ล้านบาท เสียด้วยซ้ำ…ดูแล้วน่าจะยังคงต่ำเตี้ยเรี่ยดินไปอีกนาน

สาเหตุอาจเป็นเพราะ 1) นักลงทุนไม่กล้าลงทุน เลยเก็บเงินสดไว้กับตัวมากกว่า เพื่อรอจังหวะ และ 2) นักลงทุนบางส่วนกระสุนหมดแล้ว ก็เลยทำให้วอลุ่มเทรดหดหาย

ประกอบกับหุ้นที่เป็นแรงกระตุ้น ที่อยู่ใน SET50 ก็ผันผวนหนัก ยิ่งทำให้บรรยากาศอึมครึม แล้วยังมีปัจจัยภายนอก ทั้งเรื่องเฟดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถูกมองว่าจะใช้ยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งกระฉูด ขณะที่แบงก์ชาติไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ผสมโรงไปด้วย เลยเป็นที่มาทำให้วอลุ่มเทรดเหือดแห้งอย่างที่เห็น…

แน่นอนเมื่อวอลุ่มเทรดเหือดแห้งอย่างนี้ กลุ่มโบรกเกอร์ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย เนื่องจากรายได้ค่านายหน้า หรือค่าคอมมิชชั่นก็หดหายไปตามวอลุ่มเทรด ส่วนโบรกเกอร์ค่ายไหนที่มีอนุพันธ์เยอะ ๆ ก่อนหน้านี้ไปกว้านซื้อหุ้นใน SET50 เพื่อมาเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ก็อาจมีโอกาสขาดทุนจากอนุพันธ์ได้

และด้วยสถานการณ์อย่างนี้ ก็ทำให้หุ้นไอพีโอมีน้อย จะมีบ้างก็เป็นตัวเล็ก ๆ ส่วนตัวใหญ่น่าจะมีแค่บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ที่ได้ฤกษ์ลงสนามเทรดวันที่ 25 ก.ค.นี้ กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ซึ่งจะเข้าเทรดช่วงปลายปีนี้เท่านั้น ยิ่งทำให้รายได้จากงานวาณิชธนกิจ หรือค่าที่ปรึกษาทางการเงินของกลุ่มโบรกเกอร์หายไปด้วย

ที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวส่อเค้าลางร้ายมาตั้งแต่ต้นปีแล้วนะ สะท้อนได้จากผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2565 ของกลุ่มโบรกเกอร์ที่ออกมาไม่ค่อยสู้ดีนัก เริ่มจากบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ที่ทำกำไรสุทธิหายไป 58% อยู่ที่ 146 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 349 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 693 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 1,102 ล้านบาท

ฟากบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ซึ่งเป็นเจ้าแห่งอนุพันธ์ ในไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิ 317 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 713 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,100 ล้านบาท ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 1,703 ล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MST แม้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มแบบกะปริบกะปรอยแค่ 1.76% เท่านั้น อยู่ที่ 281 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเคยทำได้ 276 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่านายหน้าลดลง 17.28% เหลือ 567 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเคยทำได้ 686 ล้านบาท

เห็นจะมีแค่บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ที่ในไตรมาส 1/2565 ยังเติบโตทั้งรายได้และกำไร โดยมีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 81 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 639 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 599 ล้านบาท

เอาเป็นว่า ถ้าดูจากสถานการณ์ตอนนี้ กลุ่มโบรกเกอร์น่าจะอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไม่น้อยทีเดียว ส่วนจะลำบากลากยาวแค่ไหน..? จะตลอดทั้งปี 2565 หรือเปล่า..? อันนี้มิอาจทราบได้

แต่ที่พอรู้…มันทำให้หุ้นโบรกเกอร์หมดเสน่ห์ไปแล้วคร้าบบบท่าน..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button