SCB CIO ชี้ใกล้ผ่านวิกฤต “เงินเฟ้อ” แนะลงทุน “สินทรัพย์เสี่ยง” รองบไตรมาส 2

SCB CIO คาดตัวเลขเงินเฟ้อใกล้ผ่านจุดสูงสุดสะท้อนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลงแต่ทิศทางดอกเบี้ยยังคงเป็นขาขึ้น แนะลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงระหว่างรอความชัดเจนผลประกอบการไตรมาส 2/65


ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office  (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าการชะลอตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อใกล้ผ่านจุดสูงสุด แต่ทิศทางดอกเบี้ยในปีนี้ยังเป็นขาขึ้นจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรชะลอตัวลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้มีความตึงตัวทางอุปทาน เช่น ทองแดง และนิกเกิล มีราคาลดลงมาก

ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของราคาพลังงานและอาหาร ส่งผลให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ใกล้ผ่านจุดสูงสุด แต่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางหลักเช่น  ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB ) ยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในปีนี้ โดยนับจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามคือสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในปี 2566 โดยตัวเลขในสหรัฐฯ และยุโรป เริ่มส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง

โดยหลังตลาดหุ้นทั่วโลกได้มีการ derating ลงมาค่อนข้างมาก แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2565 และการปรับคาดการณ์ผลประกอบการในครึ่งหลังของปี ผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 จะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนจากภาวะเงินเฟ้อสูง, ดอกเบี้ยขาขึ้น, และเศรษฐกิจชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ล่าสุดการปรับคาดการณ์ผลประกอบการในสหรัฐฯ และยุโรปที่ดีขึ้นล่าสุดมาจากกลุ่มพลังงาน ในขณะที่ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจอื่นถูกปรับลดลง นอกจากนี้ SCB CIO เชื่อว่าความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยที่สูงขึ้นจะเข้ามากดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ทำให้การขยับขึ้นหลังจากนี้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น แต่การขยับขึ้นที่เร็วกว่าของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ภาะวะ inverted yield curve อยู่เป็นระยะในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุน( Asset Allocation portfolio)  ของ SCB CIO โดยแนะนำถือเงินสดใน Portfolio สัดส่วนประมาณ 5-10% ในช่วงที่ตลาดรอความชัดเจนจากผลประกอบการไตรมาส 2/2565 และทิศทางดอกเบี้ยปี 2566   พร้อมทยอยสะสมพันธบัตรกลุ่มระดับลงทุน เพื่อสร้างกระแสรายได้ให้กับ Portfolio สัดส่วน 20-30%

นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเป็นกลางสำหรับการลงทุนในหุ้นโดยรวมในกลุ่มตลาดหุ้น Develop Markets (DM) มีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพื่อรอความชัดเจนจากผลกระทบเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัวที่จะมีต่อผลประกอบการในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ คงมุมมองหุ้นยุโรปเป็น Slightly negative จากผลกระทบยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป สำหรับกลุ่ม Emerging  Markets (EM) ซึ่งยังคงมุมมอง Slightly positive ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน A-share หลังมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่เชื่อว่าการปิดเมืองข้างหน้าจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อควบคุมผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมุมมอง หุ้นไทย และ เวียดนาม ที่ Slightly Positive

โดยเชื่อว่าการเปิดเมืองของทั้ง 2 ประเทศจะทำให้เศรษฐกิจและผลประกอบการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยตลาดหุ้นทั้งสองประเทศมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยสะสมเข้าพอร์ต โดยมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยในทั้งสองประเทศจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในส่วนของไทยมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งละ 0.25% ใน 3 การประชุมที่เหลือของปี

นอกจากนี้ SCB CIO ยังคงแนะนำให้มีสินค้าโภคภัณฑ์ประมาณ 4-6% ของ portfolio เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดยเน้นที่น้ำมันซึ่งยังมีความตึงตัวของอุปทาน รวมถึงอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปียังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเปิดเมืองเปิดประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย

อย่างไรก็ตามการปรับสินค้าโภคภัณฑ์ ลงเป็น slightly positive เพื่อสะท้อนความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะมีผลต่ออุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยผลกระทบจะมีค่อนข้างมากกับสินค้าที่ไม่ได้มีความตึงตัวในอุปทานในระยะข้างหน้า เช่น ทองแดง สำหรับลูกค้า HNW และ UHNW การมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ และ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอยู่ในพอร์ตโฟลิโอจะช่วยสร้างกระแสรายได้และลดความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอได้

Back to top button