ฉายซ้ำ! “ยุทธพงศ์” ขยี้ท่อส่งน้ำอีอีซี “สันติ” ซัดกลับรับงานใครมาอภิปราย

“สันติ พร้อมพัฒน์” ชี้แจงปมท่อส่งน้ำ EEC พร้อมถาม “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รับอภิปรายใครมาหรือไม่ พร้อมย้ำโครงการนี้มีความโปร่งใส่ และผ่านขั้นตอนการศึกษาจากหลายฝ่าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหาว่าทุจริตโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า มีใบเสร็จทุจริตโครงการนี้ โดยนายสันติมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นประธานกรรมการที่ราชพัสดุเห็นชอบใช้วิธีคัดเลือกบริษัทเอกชนมาดำเนินโครงการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี แทนวิธีเปิดประมูลทั่วไป เพื่อหนีพ.ร.บ.ร่วมทุน เป็นการคัดเลือกโดยไม่โปร่งใสนั้น

นายสันติ ในฐานะกำกับกรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้ใช้สิทธิชี้แจงว่า เดิมทาง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW บริหารอยู่ ซึ่งอีสท์วอเตอร์เกิดจากความหวังดีของรัฐบาลตั้งแต่สมัยพ.ศ.2535 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สมัยนั้นคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทส่งน้ำภาคตะวันออกให้ดูแลบริหารจัดการน้ำ โดยมอบให้การประปาส่วนภูมิภาคดูแล โดยภาครัฐถือหุ้น 100% ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้าไปดำเนินการดูแลในเรื่องการจัดส่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคอุตสาหกรรม ให้กับประชาชนภาคตะวันออก

ต่อมาจะมีการแปลง อีสท์วอเตอร์ ให้เอกชนถือหุ้นประมาณ 50% โดยการประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้น 40% และมีการนิคมถือหุ้นอีกเล็กน้อย ขณะนี้เป็นบริษัทเอกชนโดยสมบูรณ์ และเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นต้องแข่งขันกันตามปกติ โดยอีสวอเตอร์มีสัญญากับกรมธนารักษ์ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ได้เซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2557 จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 อีก 2 ส่วนที่ได้รับมอบจากกรมชลประทานและกรมโยธาธิการไม่ได้มีการเซ็นสัญญากับกรมธนารักษ์ตั้งแต่สมัยที่กรมธนารักษ์ได้รับมาจากกรมโยธาธิการ และกรมชลประทานเป็นการให้เช่าบริหารไปพลางก่อน

ดังนั้นกรมธนารักษ์จึงได้จ้างให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา และรับในการไปศึกษาเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเรื่องผลประโยชน์ และเรื่องต่างๆที่จะมารวบรวม เพื่อทำ TOR ในครั้งนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เรื่องชลประทาน และเมื่อได้ศึกษาโครงการอย่างครบถ้วน และรอบคอบแล้ว ได้มีข้อเสนอแนะในการศึกษาว่าแนวทางที่ควรจะดำเนินการเรื่องของท่อส่งน้ำทั้งหมดของภาคตะวันออกควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการส่งน้ำ ส่งผ่านการดูและบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้ EEC ทางภาคตะวันออกซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเกิดความเสียหายและเกิดความขาดตอนต่อเนื่อง จึงได้กำหนดเป็น 4 แนวทาง

วิธีที่ 1 คือการประมูล วิธีที่ 2 คือวิธีการยกเว้นการประมูลโดยวิธีจำเพาะเจาะจงเลือกเอกชนรายใดรายหนึ่ง วิธีที่ 3 ยกเว้นการประมูลโดยใช้วิธีคัดเลือกเอกชนอย่างน้อย 3 ราย และวิธีที่ 4 แนวทางการดำเนินการอื่นๆในการบริหารจัดการน้ำสายหลักในภาคตะวันออกที่จะเป็นไปได้ในอนาคตเช่นรัฐดำเนินการเอง

โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีข้อแนะนำให้กรมธนารักษ์ใช้แนวทางที่ 3 เป็นวิธียกเว้นการประมูลโดยวิธีการคัดเลือกเอกชน 3 รายและให้มีการกำหนดเงื่อนไขประกอบการเจรจาที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างเอกชน ดังนั้นจึงได้ไปขอการอนุมัติในการดำเนินการตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรได้มีข้อเสนอแนะ

จากนั้นกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการในการคัดเลือก และท้ายที่สุดได้มีการเปิดโอกาสให้ยื่นข้อเสนอในเรื่องของกรมธนารักษ์ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการโครงการไว้อย่างชัดเจนในเอกสารของการคัดเลือก เพื่อให้เอกชนสามารถที่จะจัดการดูแลบำรุงรักษาท่อส่งน้ำภาคตะวันออกให้สามารถตอบสนองในความต้องการของชุมชนและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกได้ ดังนั้นจึงได้มีการเปิดการ ประกวดราคา

โดยภายหลังการชี้แจงของนายสันติ นายยุทธ์พงศ์ได้ลุกขึ้นแย้ง และบอกว่านายสันติไม่ยอมตอบคำถามของตน คือ ทำไมต้องใช้วิธีการคัดเลือก นี่คือสิ่งที่ตนต้องการคำตอบ ทำให้นายสันติ ได้ใช้สิทธิชี้แจงอีกครั้งว่า เรื่องการไม่เปิดประมูลส่วนนี้เป็นที่ของราชพัสดุต้องใช้พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุว่าด้วยการหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ โดยตนได้อธิบายตั้งแต่ต้นแล้วว่า โครงการนี้มีความสำคัญต่อผู้ใช้น้ำในพื้นที่ตะวันออก ทางกรมธนารักษ์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวและมีข้อสรุปความเห็นว่าจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาทำการวิเคราะห์เรื่องการดำเนินการโครงการนี้ จึงได้คัดเลือกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการในครั้งนี้

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลสรรหาผู้มาบริหาร กรมธนารักษ์ได้นำคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างของระบบส่งน้ำภาคตะวันออกในโครงการ หลังจากนั้นมีการตัดต่อท่อส่งน้ำที่เคยเชื่อมต่อไว้เดิมออกจากท่อที่ราชพัสดุ ซึ่งอีสท์วอเตอร์ได้มีการต่อท่อน้ำอีกมากมาย ซึ่งตนไม่รู้ว่าได้รับอนุญาตหรือไม่ แต่ถ้าได้รับอนุญาตแล้วจ่ายผลประโยชน์ให้กับทางราชการได้อย่างเต็มหน่วยหรือไม่

แต่นายยุทธพงศ์ได้ลุกขึ้นแย้งอีกครั้ง และระบุว่าขอประท้วงโดยใช้ข้อที่ 69 การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นที่อภิปราย เหมือนท่านไม่ไว้วางใจบริษัทอิสวอเตอร์ขอให้ตอบตรงๆ ทำไมจึงไม่ประมูลทั่วไปให้เกิดการแข่งขัน ทำให้นายสันติ ตั้งคำถามกลับไปบังนายยุทธพงศ์ ว่านายยุทธพงศ์ไปรู้ข้อมูลมากกว่าตนได้อย่างไร โดยเฉพาะเหตุผลต่างๆเกี่ยวกับโครงการนี้ แสดงว่ามันคงมีอะไรซักอย่าง หรือมีใครไปรับงานมาจากอิสวอเตอร์หรือไม่ ตนไม่ทราบและต้องบอกตรงๆว่าในระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ที่อิสวอเตอร์รับไปทำอยู่มีปัญหาพอสมควร ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนของเรามีปัญหา แต่ตนต้องทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งท่านไม่ต้องเป็นห่วงเพราะมีอัยการเป็นผู้ตรวจสอบดูแล

Back to top button