MAKRO ได้โลตัสส์หนุน

ตั้งแต่ MAKRO รวบกิจการโลตัสส์เข้ามาอยู่ในพอร์ต ก็มีพัฒนาการด้านการเติบโตทั้งในแง่รายได้และกำไรอย่างมีนัยสำคัญ


คุณค่าบริษัท

ตั้งแต่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO รวบกิจการโลตัสส์เข้ามาอยู่ในพอร์ต ก็มีพัฒนาการด้านการเติบโตทั้งในแง่รายได้และกำไรอย่างมีนัยสำคัญ ดูได้จากผลการดำเนินในไตรมาสแรกปีนี้ที่โชว์กำไรสุทธิ 2,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,734 ล้านบาท และมีรายได้รวม 111,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 56,097 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากกลุ่มธุรกิจค้าส่ง 56,622 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจค้าปลีก 49,646 ล้านบาท

ขณะที่ แนวโน้มไตรมาส 2/2565 ถูกมองว่าจะเติบโตได้ต่อ โดยบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินจะมีกำไร 1,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 1,287 ล้านบาท เนื่องจากรวมธุรกิจโลตัสส์เข้ามา คาดอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เพิ่มขึ้น 2-3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสาขามาเลเซียที่ดีขึ้นชดเชยไทยที่ยังลดลงเล็กน้อย

แต่ลดลง 8.9% จากไตรมาสก่อนที่มีกำไร 2,050 ล้านบาท เนื่องจากกำไรโลตัสส์ลดลงจากโปรโมชันกระตุ้นยอดขาย และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้าน IT, การรีแบรนด์ (Rebranding) บวกกับ MAKRO ยังไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นทั้งหมด ทำให้มาร์จิ้นชะลอตัวจากไตรมาสก่อน

ขณะเดียวกัน MAKRO ฟื้นตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำ และจากการเปิดเมือง-เปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาตามหัวเมืองท่องเที่ยวโซนภาคใต้และตะวันออก รวมถึงขายให้กับกลุ่ม HORECA (ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง) ได้มากขึ้น และการทยอยปรับราคาขายขึ้นส่งผลให้ SSSG เพิ่มขึ้น 7-8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit margin หรือ GPM) ดีขึ้นจากสัดส่วนยอดขายของสดเพิ่มขึ้น หักล้างกับ SG&A ที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินฯ จ่ายเต็มจำนวน 100% (เป็นไตรมาสที่สอง) และค่าใช้จ่ายโครงการ Maknet

ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2565 คาดมีกำไร 3,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 3,021 ล้านบาท

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า MAKRO จะทำได้ตามที่คาดหวังหรือเปล่า..?

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น MAKRO ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 26.26 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 18.19 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดู P/BV ที่ระดับ 1.27 เท่า ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.62 เท่า

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 3,699,728,100 หุ้น 34.97%
  2. บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 2,640,302,800 หุ้น 24.95%
  3. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 1,872,132,145 หุ้น 17.69%
  4. บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด 936,066,072 หุ้น 8.85%
  5. UOB KAY HIAN (HONG KONG) LIMITED – Client Account 101,718,300 หุ้น 0.96%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ
  2. นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ รองประธานกรรมการที่ 1
  3. นายธานินทร์ บูรณมานิต รองประธานกรรมการที่ 2, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  4. นายอำรุง สรรพสิทธิ์วงศ์ กรรมการ
  5. นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการ
  6. นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล กรรมการ
  7. นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการ
  8. นายประเสริฐ จารุพนิช กรรมการ
  9. นายณรงค์ เจียรวนนท์ กรรมการ
  10. นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ กรรมการ
  11. นายราล์ฟโรเบิรต ไทย์ กรรมการอิสระ, ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
  12. นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม กรรมการอิสระ
  13. นายประสพสุข บุญเดช กรรมการอิสระ
  14. นางกรรณิการ์ งามโสภี กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  15. นายจักร บุญ-หลง กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ

Back to top button