“คลัง” คงเป้า GDP ปี 65 โต 3.5% ชี้ท่องเที่ยว – บริโภคฟื้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงเป้า GDP ไทย ปี2565 เติบโตอยู่ที่  3.5% ชี้ปัจจัยหนุนหลักจากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนปัจจัยลบต้องจับตา ขัดแย้งรัสเซีย - ยูเครน นโยบายการเงินประเทศเศรษฐกิจหลัก


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ยังคาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3 ถึง 5.3) และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 8.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจากปี 2564 ที่มีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคน

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.2 ถึง 8.2) แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.2 ถึง 6.2) ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศ ขณะที่บทบาทนโยบายการคลังจะยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี ตามราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง หากราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน 1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อยๆ คลี่คลายลง

2) นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางมายังประเทศไทยสูงกว่าที่คาด ตามแนวทางการเปิดประเทศ

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง มีดังต่อไปนี้

1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผ่านไปยังต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังอัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องและภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว

3) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

4) เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลักและประเทศจีน ประกอบกับหากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศจีนยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ก็จะส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) และส่งผลเชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตและการค้าทั่วโลก

Back to top button