8 ผู้บริหาร THAI ยอมตัดเงินเดือน 10% หากยังขาดทุน
จรัมพร โชติกเสถียร พร้อมทีมผู้บริหาร THAI ยอมตัดเงินเดือน 10% หากยังขาดทุน บอร์ดสั่งปรับแผนด่วน ส่วนในQ4/58 บริษัทจะลดค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 1.5 พันล้านบาท และเพิ่มรายได้อีก 1.5 พันล้านาทน่าจะทำให้การฟื้นฟูกิจการทำได้ตามแผนงานได้เร็วขึ้น พร้อมคาดว่าในปีหน้าการบินไทยจะออกหุ้นกู้ราว 1 - 1.2 หมื่นล้านบาทเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีหน้า
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP)อีก 7 คนรวมทั้งตนเองรวม 8 คนจะปรับลดเงินเดือนลง 10% หากผลประกอบการของบริษัทในเดือนใดยังประสบปัญหาขาดทุนก็จะปรับลดเงินเดือนในเดือนถัดไป เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ ดังนั้น หากเดือนต.ค.58 มีผลขาดทุนผู้บริหารทั้ง 8 คนก็จะปรับลดเงินเดือนในเดือนพ.ย.แต่หากเดือนใดมีกำไรก็ไม่ต้องปรับลดเงินเดือนของเดือนถัดไป
ทั้งนี้ แผนปฏิรูปกิจการของบริษัทมีทั้งหมด 21 แผนงาน โดย 7 แผนก้าวหน้ามากกว่า 85% และอีก 12 แผนก้าวหน้า 50-85% ส่วนอีก 2 แผนยังยาก ได้แก่ การปรับปรุงบริการชั้นประหยัด(economy) ทั้งนี้ คนร.จะติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน
สำหรับการปรับลดค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิรูปบริษัทในปีนี้ลดลงได้ประมาณ 7-8 พันล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7% ขณะที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10,700 ล้านบาท หรือลดลง 10% จากปี 57 ที่มีค่าใช้จ่ายรวม 107,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะผลักไปรวมกับปี 59 ที่มีเป้าหมายปรับลดค่าใช้จ่ายลงอีก 20% หรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้รวมงบโครงการร่วมใจจากเพื่อปรับลดพนักงาน จำนวน 2 พันล้านบาท จากปีนี้ใช้งบในส่วนนี้ไปแล้ว 3.7 พันล้านบาท สามารถลดจำนวนพนักงานลงได้ 1,400 คน
ส่วนในไตรมาส 4/58 บริษัทจะลดค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 1.5 พันล้านบาท และเพิ่มรายได้อีก 1.5 พันล้านาทน่าจะทำให้การฟื้นฟูกิจการทำได้ตามแผนงานได้เร็วขึ้น
ขณะที่บริษัทเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในเดือน ธ.ค.นี้อนุมัติขายเครื่องบินอีก 10 ลำ จากที่ขายไปแล้ว 18 ลำ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายขายเครื่องบินให้ได้ 42 ลำ แต่กระบวนการขายล่าช้า ซึ่งขณะนี้พยายามเจรจาขายให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินอีก 8 ลำที่จะขายในปีหน้า ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ และเครื่องบินขนส่งสินค้า(Cargo) จำนวน 2 ลำ
ส่วนสถานการณ์ด้านการตลาด นายจรัมพร ยอมรับว่า เหตุระเบิดย่านราชประสงค์ส่งผลกระทบอย่างมากปลายเดือน ส.ค.-ก.ย.58 โดยเฉพาะผู้โดยสารจากจีนลดลง 23% กระทบรายได้ในครึ่งหล้งของไตรมาส 3/58 ต่อเนื่องมาในไตรมาส 4/58 ที่ผู้โดยสารจีนและเอเชียยังคงลดลง และคาดว่าจะลดลง 10%ต่อเนื่องไปต้นปีหน้า ทำให้อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor)ปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 80% จากที่คาดการณ์ระดับเฉลี่ยที่ 75% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 68.9% ส่วนปีหน้าตั้งเป้า Cabin Factor เพิ่มเป็น 80%
อย่างไรก็ตาม รายได้ในปีนี้เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน หรือคาดว่าจะใกล้เคียง 1.8 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ผลตอบแทนต่อที่นั่ง(YIeld)ปรับลดลงมากจนเป็นปัญหาทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุน สืบเนื่องมาจากการแข่งขันสูง รวมทั้งปีนี้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนปีนี้ยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 4 พันล้านบาท แต่ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 1.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี คาดว่าปี 59 บริษัทจะกลับมามีกำไร และรายได้จะเติบโต 10% รับผลดีจากการเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ และปรับปรุงยอดขายให้สูงขึ้น โดยเจาะตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยุโรปและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดที่ถูกแย่งไปมาก รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนการขายผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้นจากปีนี้ที่มีสัดส่วนเพิ่มมาที่ 14% จากปีก่อนมีสัดส่วน 12% และจะดันขึ้นไปเป็น 30% ในที่สุด
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน THAI. กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนขายสินทรัพย์ ที่ไม่ได้ใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ บ้านพักที่แม่ฮ่องสอน เชียงราย สเปน อังกฤษ เดนมาร์ก เป็นต้น ทั้งนี้ ราคาประเมินโดยรวมประมาณ 5-6 พันล้านบาท และการขายครั้งนี้คาดว่ารงไม่มีกำไร แต่ต้องการสร้างสภาพคล่องมากขึ้น และจะนำเงินบางส่วนไปใช้คืนหนี้
นอกจากนี้ บริษัทจะปรับปรุงงบดุล โดยจะปรับราคาสินทรัพย์เป็นราคาตลาด เพื่อทำให้มูลค่าสินทรัพย์สูงขึ้น และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนหนี้สินเท่าเดิม โดยมีเงินกู้ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ปรับลดลงเหลือ 10 เท่าจาก 13 เท่า ณ สิ้นเดือน ก.ย.58
พร้อมทั้ง คาดว่าในปีหน้าการบินไทยจะออกหุ้นกู้ราว 1 – 1.2 หมื่นล้านบาทเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีหน้า
สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้อนุมัติมาตรการเร่งด่วนปรับปรุงการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปบริษัทที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 2 มาตราการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มรายได้ ทั้งการปรับปรุงเส้นทางบินและเที่ยวบิน และมีมาตรการต่างๆ ในการเพิ่มรายได้โดยเน้น Quality Revenue ทุกด้านให้เหมาะสมกับต้นทุน จัดเครื่องบินให้มีความเหมาะสมกับ Traffic เครือข่าย และเส้นทางบิน รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินเครื่องบินให้มีความคุ้มค่าทางธุรกิจมากขึ้น
และ 2. มาตรการเร่งด่วนในการลดค่าใช้จ่ายทันที ได้แก่ ด้านการลงทุน ให้ชะลอการลงทุนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย จัดการและควบคุมพัสดุและสินค้าคงคลัง ด้านมาตรการควบคุมและลดรายจ่าย อาทิ การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Fuel Management) โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Fuel Hedging) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเส้นทางการบิน (Route Expense) ปรับลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ควบคุมค่าใช้จ่ายการทำงานล่วงเวลา ปรับลดเงินบริจาค สนับสนุนและช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น