กลับมติค่า “Ft” มีปัญหาแน่! กกพ.ขึ้นตามเดิม-เตรียมหารือรัฐช่วยเยียวยา
กกพ.ย้ำ ค่า “Ft” งวดใหม่ควรขึ้นตามเดิม ทั้งปี 4.72 บาท/หน่วย แล้วแยกออกมาตรการเยียวยา พร้อมยอมรับปัญหาใหญ่ไม่มีเงินออกมาตรการ ขณะที่กระทรวงพลังงานเตรียมหารือ เพื่อหาข้อสรุปแนวทางค่าไฟ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ คาดสัปดาห์หน้าชงเข้าครม.ได้
ผู้สื่อข่าวรายงาน อ้างอิงแหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที งวดใหม่ ก.ย.-ธ.ค.65 เพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ทางกกพ.ได้เลื่อนการชี้แจงการปรับขึ้นราคามาแล้ว 2 ครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐบาลเบรกการชี้แจงปรับขึ้นราคา และให้กลับไปทำมาตรการเยียวยา จนสร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างมากว่า สรุปแล้วค่าไฟงวดใหม่วันที่ 1 ก.ย. 65 ปรับขึ้นตามมติเดิมหรือไม่ หรือมีแนวโน้มปรับลดลงว่า โดยในส่วนของ กกพ.ยืนยันว่า ได้ส่งเอกสารทุกอย่างให้ 3 การไฟฟ้า มีผลทางกฎหมายไปแล้วตั้งแต่ 27 ก.ค.เป็นต้นมา ซึ่งตามหลักการแล้วถ้ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็สามารถออกเป็นมาตรการเยียวยาประชาชนแยกส่วนออกมาเหมือนทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องกลับมติการปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้ อีกทั้งถ้าไม่ขึ้นการไฟฟ้าต้องแบกรับภาระ กระทบกับความมั่นคงพลังงานในอนาคต
ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงการปรับขึ้นค่าเอฟที งวดใหม่ ได้สั่งให้กระทรวงพลังงาน เร่งหามาตรการช่วยเหลือออกมา ซึ่งจะไปหารือกับสำนักงาน กกพ. ด้วยว่า จะยังคงยืนยันตามมติเดิมหรือไม่ และหากกกพ.จะปรับขึ้นค่าเอฟทีจะขึ้นเท่าเดิมหรือขึ้นแค่ไหน แล้วมาตรการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดผลกระทบจะเป็นอย่างไร ซึ่งการจะทบทวนหรือปรับเปลี่ยนมติบอร์ดกกพ.ที่ออกไปแล้วหรือไม่นั้น ส่วนตัวจะไปก้าวล่วงไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของ กกพ.
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกำลังผลิตที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กำลังผลิต 800 ล้านลูกบาศกูฟุตต่อวันนั้น นายกุลิศ ชี้แจงว่า ขณะนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเคมี จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP อยู่ระหว่างเร่งกำลังผลิต เนื่องจากผู้รับสัมปทานเดิมไม่ได้มีการขุดเจาะเพิ่ม จึงทำให้กำลังการผลิตลดลงเหลือระดับ 200 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ ปตท.สผ.เมื่อได้เข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา ก็ได้เร่งลงทุนและเพิ่มกำลังผลิตขึ้นมา โดยล่าสุดได้รับทราบข้อมูลว่าอย่างน้อยๆ จะดันกำลังผลิตสิ้นปี 65 ไม่ให้ต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
สำหรับการแบกรับภาระค่าเอฟทีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น นายกุลิศ ยอมรับว่าก็มีความเป็นห่วงมาก ซึ่งรัฐบาลก็จะเข้ามาดูแล เพราะค่าเอฟทีจะกระทบไปถึงสภาพคล่องของ กฟผ.ด้วย โดยภาครัฐจะเข้าไปดูว่าในการที่กฟผ. ได้เข้าไปช่วยแล้วขาดอะไรไปอย่างไรบ้าง และจะต้องมีการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไรบ้าง ตอนนี้กำลังทำมาตรการต่างๆ อยู่ เช่น เงินกู้เพิ่มเติม