การเติบโตเชิงกลยุทธ์
นี่ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Growth Strategy เพื่อตอบโจทย์การเติบโตในอนาคต และถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่ง..!!
การผนึกความร่วมมือกันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และค้าปลีก โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จับมือกับกลุ่มบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อบริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KBAO) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท
โดย KBANK ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 50% ผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION) ส่วนกลุ่มคาราบาวส่งบริษัท ทีดี เวนเจอร์ จำกัด (TDV) เข้าถือหุ้นบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ซึ่ง KBAO จะให้บริการทางด้านการเงิน ปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มคาราบาว ทั้งเจ้าของร้าน พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้เช่าพื้นที่ในร้าน จนถึงลูกค้าที่เป็นสมาชิกธุรกิจค้าปลีก ภายใต้ชื่อ CJ Express และ CJ Supermarket มีการขยายแล้วกว่า 800 สาขาใน 34 จังหวัด
มองแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ นั่นหมายถึง กลยุทธ์การสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ (Growth Strategy) ตามกรอบ แนวคิดของ Igor Ansoff บิดาแห่งศาสตร์ด้านกลยุทธ์สมัยใหม่ เจ้าของทฤษฎี Ansoff Matrix ที่เน้นพิจารณาสินค้าและตลาดคู่กัน เพื่อเฟ้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ
ช่วงปี 1957 Ansoff นำเสนอแนวคิดสำคัญไว้ว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกกลยุทธ์เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ให้พิจารณาจาก 2 มิติคือ “มิติด้านลูกค้า” ที่แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน กับกลุ่มลูกค้าในเป้าหมายใหม่ และ “มิติด้านผลิตภัณฑ์” ที่แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกผลิตภัณฑ์ออกไป
-กลยุทธ์แรก คือ กลยุทธ์การเจาะตลาด (Market Penetration) เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไรให้ ลูกค้ากลุ่มปัจจุบัน รู้จัก และซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น
-กลยุทธ์ที่สอง คือ กลยุทธ์การพัฒนาตลาด (Market Development) เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไร เพื่อใช้โอกาสจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ได้มากยิ่งขึ้น
-กลยุทธ์ที่สาม คือ กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าปัจจุบันมีโอกาสใช้ประเภทผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มาจากการแตกไลน์ได้มากขึ้น
-กลยุทธ์ที่สี่ คือ กลยุทธ์การแตกไลน์ธุรกิจ (Diversification) เป็นกลยุทธ์การเติบโตด้วยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่
จากธุรกิจค้าปลีกและก้าวสู่ธุรกิจการเงินของ “กลุ่มคาราบาวกรุ๊ป” ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากธุรกิจต้นน้ำ คือธุรกิจการผลิต ผ่านบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ผ่านบริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด ก้าวสู่ “ธุรกิจกลางน้ำ” คือกิจการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่าง ๆ ในเครือคาราวบาวตะวันแดง ผ่านบริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด และธุรกิจปลายน้ำ นั่นคือธุรกิจค้าปลีก ผ่านบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ที่ไม่ใช่มีเพียงแต่ CJ Express หรือ CJ Supermarket กับการค้าปลีกจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่แตกแขนงไปสู่โซนเครื่องสำอาง สินค้าสุขภาพและความงามหลากหลายแบรนด์
โซนสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องเขียนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เป็นเป้าหมายหลัก และโซนสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือช่าง, อุปกรณ์ทำสวน, อุปกรณ์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ประปา อุปกรณ์ดูแลรถยนต์ ต่าง ๆ เน้นที่กลุ่มเจ้าของบ้านและวัยทำงาน ร้านกาแฟสดเพื่อความครบเครื่องธุรกิจค้าปลีกดังกล่าว โดยมีสู่ธุรกิจการเงินมาทำหน้าที่ช่วยเติมเต็ม และผลักดันการเติบโตมากขึ้น
การมีระบบนิเวศของตัวเอง (Own Ecosystem) จะช่วยทำให้ร้านโชห่วยและร้านถูกดี มีมาตรฐาน แข็งแกร่งขึ้น ช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของ CBG โดยปัจจุบัน CJ มีสาขา 800 กว่าสาขา และตั้งเป้าขยายสาขาครบ 1,000 สาขา ภายในปี 2566 ส่วนร้านถูกดีมีทั้งหมดกว่า 5,000 สาขา
นี่ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Growth Strategy เพื่อตอบโจทย์การเติบโตในอนาคต และถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่ง..!!