พาราสาวะถี

การเมืองกับเรื่องเล่ห์เพทุบายเป็นของคู่กัน สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่หรือเป็นความจริงก็ได้ ยังคงตีความกันไม่เลิกกับรอยยิ้มแบบเลศนัยของผู้นำเผด็จการ


การเมืองกับเรื่องเล่ห์เพทุบายเป็นของคู่กัน สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่หรือเป็นความจริงก็ได้ ยังคงตีความกันไม่เลิกกับรอยยิ้มแบบมีเลศนัยของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเมื่อถูกถามถึงโอกาสในการยุบสภา ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกเร่งเร้าด้วยปมวาระในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ถูกขีดกรอบไว้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าห้ามเกิน 8 ปี ซึ่งในรายของท่านผู้นำกำลังถกเถียงกันหนักว่าเริ่มนับตั้งแต่คราวนั่งเก้าอี้นายกฯ เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 เลยหรือไม่

แน่นอนว่า คำตอบสุดท้ายอยู่ที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานความไม่วางใจของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อองค์กรอิสระแห่งนี้ ที่แน่ ๆ มติที่จะออกมาไม่มีทางเป็นเอกฉันท์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะเป็นไปในทิศทางเฉียดฉิว แต่ก็มีคนดักคอไว้ก่อนล่วงหน้า อย่าง ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้าที่บอกว่า ผลของการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสมเหตุสมผล นำไปสู่จุดหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ขัดต่อสามัญสำนึกและไม่ทำให้เกิดผลประหลาด หรือ absurd เหมือนหลาย ๆ คดีที่ผ่านมา

ต้องยอมรับความจริงกันว่า คณะเผด็จการชุดนี้ที่แปรสภาพกลายเป็นขบวนการสืบทอดอำนาจนั้น มีเป้าหมายคือ “อยู่ยาว” โดยสร้างกลไกต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ออกแบบกันมาเนื่องจากต้องอิงกับหัวโขนของคนดีที่อุปโลกน์กันขึ้นมา จึงต้องวางกฎเกณฑ์ทั้งหลายให้ดูเหนือชั้น รวมไปถึงตีกันฝ่ายตรงข้ามไปในตัวด้วย แต่ทำไปทำมากลับวกมารัดคอตัวเอง ทั้งเรื่องระบบเลือกตั้ง จนมาถึงประเด็นนายกฯ 8 ปี

เรื่องที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางรายออกมาแก้ตัวถึงบันทึกการประชุม กรธ. โดยอ้างว่าไม่ใช่มตินั้น มันสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า มีความพยายามที่จะหาทางออกเพื่อให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อ แต่ความเป็นจริง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามตัวบทกฎหมาย รวมไปถึงสิ่งที่บันทึกกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมันไม่สามารถแปรความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น สิ่งที่มองกันอยู่เวลานี้ตีความจากรอยยิ้มของท่านผู้นำอาจเป็นไปได้ที่จะยุบสภาเพื่อตั้งหลัก หรือหนักข้อกว่านั้นต้องมีกลไกพิเศษเพื่อฉีกทิ้งกติกาที่เป็นปัญหา

อย่างหลังนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างยิ่ง หากจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารโดยที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งใด ๆ เชื่อได้เลยว่าภาคประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวทั้งหลายคงไม่ยอมแน่ และจะกลายเป็นหายนะมากกว่าจะมีช่อดอกไม้เสียบตรงปลายปืน เหมือนการรัฐประหารที่ผ่านการเตรียมการกันมาเป็นอย่างดีเมื่อปี 2549 และ 2557 คำถามต่อมา ถ้าเลือกวิธียุบสภาหมายความว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ต้องเว้นวรรควางมือไปโดยปริยาย

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไขในปมห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ไม่สามารถกลับมาสู่อำนาจที่วางกลไกกันไว้ เว้นเสียแต่ว่าจะเดิมพันด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน แล้วผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดว่าความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้นับตั้งแต่ปี 2557 นั่นก็จะเป็นหนทางที่จะคืนสู่เก้าอี้ที่ตัวเองต้องการไปต่ออีกหน บนโจทย์ที่ว่าพรรคซึ่งให้การสนับสนุนจะต้องชนะเลือกตั้ง หรือรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้

ปัจจัยทางการเมือง บวกกับสารพัดปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่เวลานี้ คงเป็นเรื่องที่ยากกับโอกาสการกลับมาของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น จังหวะนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีหากจะต้องวางมือแม้จะเคยประกาศไว้ว่าลงจากหลังเสือต้องฆ่าเสือก่อนก็ตาม ความจริงจะเรียกว่าเป็นอาถรรพ์ของการเมืองไทยที่มีผู้นำซึ่งผ่านกระบวนการของประชาธิปไตยมาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ใครที่คิดจะอยู่นานจะต้องฝ่าด่านความเบื่อหน่ายของประชาชนให้ได้เสียก่อน

เหตุที่มีคนยกเอา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นแนวทางให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเดินตามนั้น ไม่ใช่เพื่อความสง่างาม หรือต้องการจะบอกว่านี่เป็นหนทางนำพาตัวเองไปสู่ความเป็นรัฐบุรุษได้ แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า แม้ในอดีตคนที่มีอำนาจกองทัพให้การหนุนหลังเต็มที่เมื่อเผชิญกับกระแสความเบื่อหน่ายของประชาชนก็เข้าใจได้ในทันทีว่าควรจะต้องเลือกทางเดินแบบไหน คำประกาศที่ว่า “ผมพอแล้ว” มันจึงช่วยสร้างมูลค่า นำมาซึ่งการยกย่อง สรรเสริญ หากดันทุรังต่อเวลานั้นไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ในส่วนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ถ้ายังห่วงหาอาทรกับสิ่งที่เที่ยวโพนทะนาว่าเป็นวิสัยทัศน์ และการวางรากฐานสำหรับประเทศในนามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะยึดติดกับการที่ตัวเองจะต้องไปต่อตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าเบื้องหน้าจะต้องเผชิญกับอะไรก็ตาม หนนี้ต้องคิดหนัก เพราะไม่ใช่แค่การแลกด้วยความเชื่อถือ ศรัทธาที่มีต่อองค์กรอิสระ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมเท่านั้น มันอาจหมายถึงการเผชิญหน้ากับการลุกฮือของมวลชนที่ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงพวกเดียวกันที่เกิดความเบื่อหน่ายจากความไม่เอาไหนอีกจำนวนไม่น้อยนั่นเอง

ขณะที่แนวโน้มของการยุบสภา ความเป็นไปได้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะอดีต กกต.ก็มีการตั้งข้อสังเกตผ่านระเบียบของ กกต.ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งพุทธศักราช 2563 จุดที่เป็นไฮไลท์ก็คือ ระเบียบดังกล่าวนั้น อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ลงนามตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 แต่ราชกิจจาเพิ่งนำมาลงวันที่ 15 สิงหาคม 2565

ในมุมมองของสมชัยจึงเห็นว่าการประกาศแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยแบบนี้ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าปี่กลองทางการเมืองที่ว่าด้วยการเลือกตั้งเริ่มโหมโรงกันแล้ว ในที่นี้คงไม่ได้สื่อว่าระเบียบที่ประกาศออกมานั้นจะนำไปไว้ใช้รอบังคับหลังรัฐบาลชุดนี้อยู่ครบวาระ แต่คงเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับการยุบสภามากกว่า ระเบียบที่ออกมาคือการห้ามรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐในระหว่างยุบสภา หรือในช่วงที่สภาครบวาระ และ ครม.เป็น ครม.รักษาการว่าห้ามทำอะไรในช่วงดังกล่าว จากสิ่งที่เห็นและเป็นไปนาทีนี้บอกได้อย่างเดียวว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

Back to top button