“WTI-เบรนท์” ร่วง 2% วิตก “เศรษฐกิจ” ถดถอย กระทบดีมานด์น้ำมัน!
ราคาน้ำมันร่วงหนัก “WTI” จ่อหลุด 88 ดอลลาร์-“เบรนท์” ใกล้หลุด 94 ดอลลาร์ นักลงทุนวิตก “เศรษฐกิจ” ถดถอย กระทบดีมานด์น้ำมัน พร้อมจับตาความคืบหน้าเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดโลก
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุด WTI ใกล้หลุดระดับ 88 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ใกล้หลุด 94 ดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะลดความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้สัญญามีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
โดย ณ เวลา 20.25 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 2.38 ดอลลาร์ หรือ 2.62% สู่ระดับ 88.39 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลบ 2.39 ดอลลาร์ หรือ 2.47% สู่ระดับ 94.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
นอกจากนั้นนักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งอาจปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดโลก
นายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า EU ได้รับคำตอบจากอิหร่านเกี่ยวกับข้อเสนอของ EU ในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 แล้ว ซึ่งทาง EU มองว่าคำตอบของอิหร่าน “มีเหตุมีผล”
“ผมเห็นว่าคำตอบของอิหร่านมีเหตุผล และผมได้ส่งคำตอบนี้ไปยังสหรัฐแล้ว ซึ่งยังไม่ได้ตอบกลับอย่างเป็นทางการ” นายบอร์เรลกล่าว
ด้านสหรัฐระบุก่อนหน้านี้ว่าพร้อมที่จะบรรลุข้อตกลงกับอิหร่านอย่างรวดเร็วตามข้อเสนอของ EU
โดยการเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจได้เริ่มขึ้นในเดือนเม.ย.2564 ที่กรุงเวียนนา แต่ได้ถูกระงับไปในเดือนมี.ค.2565 ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน แต่การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ที่กรุงเวียนนา ซึ่งหากอิหร่านและชาติตะวันตกสามารถบรรลุข้อตกลง ก็จะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด