พาราสาวะถี
พิจารณาจากการตอบคำถามล่าสุดของ วิษณุ เครืองาม ต่อปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ
พิจารณาจากการตอบคำถามล่าสุดของ วิษณุ เครืองาม ต่อปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับปัญหาที่จะตามมาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ถ้ายึดตามกรอบของศาลรัฐธรรมนูญในแง่ของเงื่อนเวลา วันนี้ (24ส.ค.) ก็จะครบ 2 วันที่ศาลจะมีคำตอบว่ารับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่
คำตอบของเนติบริกรศรีธนญชัยทำให้มองเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่หวาดวิตก หาใช่เพราะมั่นใจในบทสรุปของคำวินิจฉัยว่าจะออกมาให้ทางเป็นคุณให้กับตัวเอง แต่สบายใจเพราะแม้ศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนต่อไปได้ ในขณะที่ตัวเองก็ยังมีหัวโขนของความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่ จึงยังสามารถเข้าร่วมประชุม ครม. ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้ แค่ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำประเทศเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ปลายทางถ้าศาลวินิจฉัยว่าอายุความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 อันเป็นผลให้ตัวเองต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกเช่นกัน เนื่องจากตามกระบวนการประธานรัฐสภาก็จะต้องเรียกประชุมเพื่อที่จะสรรหานายกฯ ตามรายชื่อแคนดิเดตที่ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อปี 2562 ในที่นี้คนที่มีภาษีฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็คือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถ้าที่ประชุมโหวตให้เสี่ยหนูเป็นนายกฯ ไปจนครบวาระ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังสามารถนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเก้าอี้รัฐมนตรีอื่นได้ต่อไป
เนื่องจากตามมาตรา 158 วรรคสี่นั้นห้ามเฉพาะความเป็นนายกฯ ที่จะเกิน 8 ปีไม่ได้ ตำแหน่งอื่น ๆ ไม่เกี่ยว ดังนั้น ในแง่บทบาททางการเมืองหากยังต้องการที่จะไปต่อก็สามารถที่จะอยู่ร่วมเส้นทางไปได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าไม่เห็นจะต้องกังวลอะไร แม้ว่าลึก ๆ แล้วประสาคนที่ไม่ยอมเป็นสองรองใครคงทำใจรับกับสภาพที่มันจะเกิดไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องไปรอลุ้นกันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร เบื้องต้น ประเด็นว่าจะรับหรือไม่รับนั้น มองไม่เห็นเหตุผลที่ศาลจะไม่รับไว้พิจารณา
ส่วนแนวทางของคำวินิจฉัยต้องย้ำกันอีกครั้งว่า ไม่หนีไปจาก 3 ส่วนที่มีผู้เสนอความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ถ้าแยกให้ชัดก็คือ ฝ่ายนักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่เห็นว่าวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ครบในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพราะนับตั้งแต่คราวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ควบหัวหน้า คสช.เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 อีกฝ่ายคือ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลและฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นว่าครบในวันที่ 5 เมษายน 2568 คือการนับอายุความเป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560
สำหรับแนวทางสุดท้าย ตามที่ฝ่ายกองเชียร์รัฐบาล คนในรัฐบาลและอดีต กรธ.บางคนเห็นว่า ครบ 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในเก้าอี้นายกฯ คือ 8 มิถุนายน 2570 โดยเริ่มนับตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันประกาศแต่งตั้งนายกฯ หลังเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งผ่านการนำเสนอจากที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 159 แน่นอนว่า ช่วงเวลานี้แต่ละฝ่ายต่างก็ออกมาแสดงความเห็นผ่านทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดียกันอย่างเข้มข้น
ท้ายที่สุดต้องรอฟังการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกระบวนการและกรอบที่จะพิจารณาอยู่ แม้ว่าหลายครั้งหลายหนผลของการวินิจฉัยจะขัดหูขัดตาประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ตาม ทั้งที่ความจริงแล้วหลักการตีความ โดยเฉพาะเรื่องของการตีความตามรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องยึดถือมาตรฐานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไป ในแง่ของหลักการดังกล่าวนั้น ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าได้นำเสนอผ่านบทความไว้อย่างน่าสนใจ
หลักการการตีความรัฐธรรมนูญที่ยึดถือเป็นมาตรฐานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปนั้น ในแง่ของหลักการทั่วไป ต้องตีความตามตัวอักษร การหาความหมายจากตัวบท การตีความโดยอาศัยหลักนี้ ถือว่าเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นแสดงออกโดยตัวอักษรที่เขียนไว้ และถ้ามีการตีความแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจากตัวอักษรถือว่าเป็นการเดาไม่ใช่การตีความ “ถ้าถ้อยคำของบทบัญญัติชัดเจนแล้วก็ต้องตีความตามความหมายปกติธรรมดาของภาษาที่ใช้และเข้าใจกันโดยคนทั่วไป”
ส่วนหลักการทั่วไปอื่น ๆ คือ การหาความหมายจากบริบท การตีความโดยอาศัยประวัติความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ การตีความโดยหลักตรรกวิทยา และการตีความโดยพิจารณาวัตถุประสงค์ ประเด็นหลังนี้เป็นการพิจารณาวัตถุประสงค์ที่เป็นความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวบุคคล หลักการตีความเช่นนี้มีผลให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะของสังคมที่แปรเปลี่ยนไปโดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
แต่เป็นที่รู้กันว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมานั้น หลายกรณีจะพบว่าไม่ใช่แค่หลักการเท่านั้น หากแต่ยังใช้เครื่องมือที่ช่วยในการตีความ เช่น พจนานุกรม ซึ่งเคยนำมาใช้ตีความในคดีของ สมัคร สุนทรเวช จนหลุดจากตำแหน่งนายกฯ มาแล้ว หรือจะเป็นตัวบทกฎหมายซึ่งพอเทียบเคียงได้กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะต้องตีความ คำวินิจฉัยของศาลหรือองค์กรผู้มีอำนาจตีความกฎหมายในประเด็นซึ่งพอเทียบเคียงได้กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะต้องตีความ ธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองตลอดจนคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาในกรณีต่าง ๆ ที่เคยมีมาแล้ว
ไม่ว่าจะอย่างไร กรณีนี้คำวินิจฉัยที่ออกมาจะต้องมีคำอธิบายที่สอดคล้องกับหลักการสากลที่กำหนดให้การตีความรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการค้นหาความหมายของถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามีความหมายที่แท้จริงอย่างไร สิ่งสำคัญผลของการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสมเหตุสมผล นำไปสู่จุดหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ขัดต่อสามัญสำนึกและไม่ทำให้เกิดผลประหลาด หรือ absurd เหมือนหลาย ๆ คดีที่ผ่านมา