พาราสาวะถี
โดยมาตรา 170 ก็คือบทบัญญัติที่กำหนดว่า นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบวาระ 8 ปี ตรงนี้ชัดเจนมาก จนไม่ต้องมาถกเถียงอะไรกันต่อแล้ว
คล้อยหลังการลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐนตรีของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ไม่ถึง 24 ชั่วโมง น้องเล็กอย่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็จัดคิวลงพื้นที่อยุธยาในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยแจ้งว่าเป็นการไปตรวจเยี่ยมกำลังพลของกองทัพที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม เรียกได้ว่าไม่ยอมปล่อยให้พี่ใหญ่สร้างคะแนนแต่เพียงผู้เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมช่วยการันตีประเด็นของการแยกกันเดินทางการเมืองของแก๊ง 3 ป.ได้เด่นชัดขึ้น
ภาพของ อนุทิน ชาญวีรกูล และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ร่วมเฟรมกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ภายในห้องทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ไม่มีใครเชื่อว่าพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะไม่คิดอะไร เป็นการยืนยันว่าน้องเล็กยังคิดจะไปต่อทางการเมือง ตามแผนอยู่ยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยพี่ใหญ่อีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกันการที่ได้มีการส่งคำชี้แจงต่อสถานะความเป็นนายกฯ ของตัวเองไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนภาวะการสู้เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการทำคำชี้แจงดังกล่าวนั้น วงในรายงานกันว่าได้นำมาซึ่งความไม่พอใจของทีมที่ปรึกษากฎหมายของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชุดที่ 1 จนถึงขั้นที่จะขอไขก๊อกกันเลยทีเดียว เพราะคำชี้แจงที่ส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญนั้นทำโดยทีมกฎหมายอีกชุดหนึ่งที่ถือเป็นทีมที่สอง ทั้งที่ ผลของการทำคำชี้แจงกับการไม่ส่งคำชี้แจงนั้นมันจะนำมาซึ่งคำถามที่มีต่อตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่แตกต่างกัน ถ้าไม่ส่งก็คือการปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ดุลยพินิจ ถูกผิดผลออกมาอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น
เมื่อมีการส่งคำชี้แจงไปตามแนวทางที่มีการวิเคราะห์กันไว้ก่อนหน้าต่อความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ นับตั้งแต่ปี 2557 หรือวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือปี 2560 หรือวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในแนวทางไม่ว่าจะปี 2560 หรือ 2562 ย่อมเกิดข้อกังขาและตามมาด้วยปฏิกิริยาของผู้คนที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือ อิทธิพลของผู้ถูกร้องอยู่เหนือกระบวนการขององค์กรอิสระหรือไม่
จะหนักข้อเข้าไปอีกหากผลการวินิจฉัยชี้ว่าอายุการเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเริ่มนับในปี 2562 เพราะมันจะเกิดปัญหาตามมาเป็นหางว่าว นั่นหมายความว่า ที่เคยอ้างกันก่อนหน้านี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เพราะถือว่าเป็นนายกฯ ต่อเนื่องที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย แต่เมื่อมาเริ่มนับอายุใหม่ ถ้าเช่นนั้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาที่ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินจะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ หรือจะมีข้อยกเว้นกันอย่างไร
สิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้ย้อนกลับไปถึงเรื่องที่เคยเตือนไว้ตั้งแต่มีการเขียนกฎหมายเพื่อวางแผนในการสืบทอดอำนาจ หวังจะอยู่ยาว และสกัดกั้นนักการเมืองบางพรรค บางคน ชัด ๆ ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ระวังสุดท้ายมันจะกลายเป็นการวางกับดักตัวเอง แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เหตุผลที่ทำให้ขบวนการสืบทอดอำนาจมั่นใจว่าจะไร้ปัญหาต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและองคาพยพ คงคิดว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก่อนหน้าจะคุ้มกะลาหัวได้ หรือไม่ก็เชื่อมั่นว่าองค์กรต่าง ๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบ วินิจฉัยนั้น ไม่ทำร้ายพวกเดียวกัน
คงลืมไปว่า ตราบใดที่ประเทศยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีนักการเมืองเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ทุกอย่างมันสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง และมีจุดตายที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือ ความเบื่อหน่ายของประชาชนที่มองเห็นว่าการคงอยู่ของผู้นำประเทศและคณะชุดเดิม มีแต่สร้างปัญหา ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ มันจึงกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้พวกที่คิดว่าจะเข้าข้างต้องคิดหนัก ประกอบกับข้อกฎหมายที่เขียนไว้ก็เป็นตัวผูกมัด จะเลี่ยงบาลี ตีกรรเชียงยิ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่หายนะ
ยกตัวอย่างกรณีความเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีในชุดรัฐบาล คสช.จะถูกนับต่อเนื่องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ให้เห็นว่า หากเราอ่านบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ครบถ้วน จะพบว่ามีการเขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า ผู้ยกร่างมีความประสงค์ให้นับรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 264 วรรคสองเขียนไว้ชัดว่า ให้รัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ รวมถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะนายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ด้วย
โดยมาตรา 170 ก็คือบทบัญญัติที่กำหนดว่า นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบวาระ 8 ปี ตรงนี้ชัดเจนมาก จนไม่ต้องมาถกเถียงอะไรกันต่อแล้ว และก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการเขียนบทบัญญัติยกเว้นว่าไม่ต้องนับรวมเหมือนกับกรณีการเขียนยกเว้นเรื่องคุณสมบัติ หรือการกระทำต้องห้ามอื่น จึงไม่แปลกใจที่บันทึกของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้ เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความประสงค์จะให้มีการนับระยะเวลานายกฯ ใช้อำนาจมาก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อยู่ยาวนั่นเอง
เหมือนกับคำถามง่าย ๆ ลองไปถามเด็กอนุบาลดู ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ มากี่ปีแล้ว คำตอบก็จะชัดเจน และเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า เหตุผลที่เขียนไม่ให้เป็นนายกฯ เกิน 8 ปีเพื่อไม่ให้ผูกขาดทางการเมืองและจะกลายเป็นวิกฤติทางการเมือง มีข้ออ้างเดียวที่หากกล้ายกมาป่าวประกาศให้ประชาชนแล้วคนจึงจะเชื่อว่า ที่ต้องยกเว้นปม 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็คือ การเขียนบังคับเรื่องนี้ต้องการที่จะใช้กับทักษิณและเครือข่ายเท่านั้น เอากันแบบนี้ไปเลยดีไหม
คนที่อ้างให้ทุกคนทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย ดูกันว่าจะยกข้ออ้างอะไรมาหักล้างสิ่งที่วางแผนเขียนกันเอง ความจริงเรื่องข้อห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปีนั้น มีมือกฎหมายในรัฐบาล คสช.เคยทักท้วงกันไว้ไม่น้อย เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาในอนาคต แต่เวลานั้นไม่มีใครฟัง เพราะมีเป้าหมายอื่นแอบแฝงในการยกร่างกฎหมายมาตรานี้ เวลานี้มันจึงทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันของทีมกฎหมายที่เคยรู้อกรู้ใจ สร้างความพึงพอใจให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมาโดยตลอด และผลสะเทือนที่ตามมา คือ ฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะไปดูแลผู้ที่ทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ อย่างจริงจัง นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของวลีทองที่ว่า “ใช้ใจบันดาลแรง”