พาราสาวะถี
เผด็จการสืบทอดอำนาจทำได้ทุกอย่างอยู่แล้วขอแค่ให้ได้อยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น ไม่ต้องไปแยแสต่อเรื่องใดทั้งสิ้น
ไม่แปลกที่ เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวานถึงกระบวนการพิจารณาคดี 8 ปีนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดหมายประชุมวาระพิเศษในปีนี้ เพราะการที่มีเนื้อหาซึ่งระบุว่าเป็นคำชี้แจงของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ.ที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้สังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกัน “ยังไงก็รอด”
เอกสารสำคัญขนาดนี้เล็ดลอดมาได้อย่างไร คงไม่ได้มาจากต้นทางหรือฝั่งผู้ทำคำชี้แจงแน่นอน ยืนยันโดย วิษณุ เครืองาม ที่ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ฟังก็ไม่ได้ออกมาจากมีชัย คล้ายกับว่าเมื่อส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วออกมาจากทางนั้นหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ได้ยินมาอย่างนั้น เอกสารคำชี้แจงไม่ใช่ความลับ เพราะเมื่อยื่นไปถึงศาลก็รู้มากกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพราะมีเจ้าหน้าที่หรือคนอื่น เพียงแต่ไม่พึงเปิดเผยออกมาก่อน
การปรากฏของเอกสารชิ้นนี้ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั้น มองได้สองทาง คือ เป็นปฏิบัติการไอโอของฝ่ายกุมอำนาจเองที่ต้องการจะให้สังคมรับรู้ว่ายังไงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็รอด เมื่อศาลได้มีคำวินิจฉัยออกมา จะได้ไม่มีแรงกระเพื่อมใด ๆ ตามมา อีกด้านคือการปล่อยออกมาจากมือที่มองไม่เห็น ต้องการให้เกิดกระแสกดดันต่อกระบวนการพิจารณาที่ถูกมองว่าตั้งธงไว้แล้ว เพื่อจะช่วยให้คนถูกร้องรอด ถ้าเป็นอย่างหลังมันสะท้อนให้เห็นถึงว่า คนในที่ปล่อยเอกสารหลุดไม่ปลื้มต่อการทำหน้าที่ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม คนอย่างมีชัยคงไม่มานั่งอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พออ่านสัญญาณจากวิษณุที่ให้สัมภาษณ์นานกว่าทุกครั้ง มองเห็นแนวโน้มแล้วว่ายังไงก็ไม่มีทางที่จะนับอายุความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เด็ดขาด จะเริ่มที่ เมษายน 2560 หรือ มิถุนายน 2562 อยู่ที่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เนติบริกรศรีธนญชัยก็อ้างว่า ไม่ว่าจะยึดแบบไหน รัฐบาลชุดนี้ก็ได้ไม่เกิน 23 มีนาคม 2566 ต้องไปกันทั้งคณะ เพราะครบวาระที่จะต้องเลือกตั้งกันใหม่แล้ว
คำถามที่ตามมา คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไปด้วยหรือไม่ ความสำคัญมันอยู่ที่คำวินิจฉัยที่จะออกมา อย่าลืมเป็นอันขาด ความพยายามดิ้นรนเช่นนี้มันแสดงให้เห็นชัดว่าเขาอยากอยู่ยาว ต้องการไปต่อเรื่อย ๆ จนกว่าจะเบื่อ มิเช่นนั้น คงไม่มีการกล่าวแบบทะนงตนว่าไม่มีคนดี ๆ เท่ากับตัวเองมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ หรือประมาณว่าประเทศชาติขาดคนชื่อประยุทธ์ไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว คนชื่อประยุทธ์ต่างหากที่จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอำนาจ
ความจริงอย่างที่ย้ำมาโดยตลอด ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กับตัวเองที่เป็นผู้ตั้งคนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง กลับใช้ทุกกระบวนท่าเพื่อที่จะตะแบงให้ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือไม่ ถามย้ำอีกหน คนชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มาแล้วกี่ปี หากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ได้ต้องการย้อนหลังไปถึงนายกฯ ทุกคนในประเทศนี้ ก็ให้เริ่มนับกันตามเวลาที่ตั้งธงไว้ก็แล้วกัน
สิ่งสำคัญเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในวันข้างหน้า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา ต้องระบุให้ชัดด้วยว่า ความเป็นนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ให้เริ่มต้นนับหลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น ก็จะไม่ครอบคลุมไปถึงอดีตนายกฯ คนอื่น ๆ ด้วย เพราะถ้าบอกว่าตีความแค่คน ๆ เดียว ก็เท่ากับว่า กฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้กับคนไทยทุกคนที่จะเป็นนายกฯ ยกเว้นคนที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จับผิดคำชี้แจงของมีชัยจะถูกหักล้างด้วยมติของที่ประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 ซึ่งเป็นการลงมติรับรองการประชุมครั้งที่ 497 ถึงครั้ง 500 อันหมายรวมถึงการพูดว่าให้การนับอายุความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจย้อนไปถึงปี 2557 ของมีชัยและรองประธาน กรธ.คนที่ 1 ด้วยนั้น โปรดทราบจากคำยืนยันของวิษณุว่า กระบวนการดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยเพราะเป็นเพียงคำพูดและมีการจดบันทึกไม่ถูก ทั้งหมดถือเป็นจุดอ่อน
ข้อต่อสู้ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่วิษณุอ้างว่าไม่มีส่วนร่วมด้วยนั้น ฟังจากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดแล้วใครเชื่อก็บ้า สิ่งที่จะนำไปเป็นข้อหักล้างในสองกรณี คือ ทั้งการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 และมติจากที่ประชุมครั้งที่ 501 วิษณุบอกว่า เป็นเพียงการพูดของ กรธ.แค่ 3 คน อีก 17 คนไม่ได้พูดอะไร มีการจดบันทึกการประชุมไม่ถูก และเป็นเพียงการถกเพื่อนำไปสู่การทำซึ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 1 ปี “คู่มือในการตีความรัฐธรรมนูญ”
ดังนั้น เมื่อคู่มือในการตีความรัฐธรรมนูญที่จะใช้ประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุเรื่องกรอบเวลาของความเป็นนายกฯ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 158 เท่ากับว่า คำพูดที่ปรากฏในบันทึกการประชุมจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะไปชี้ว่าความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 จะเรียกกันว่าปาฏิหาริย์กฎหมาย ไสยศาสตร์ทางกฎหมายหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือสิ่งที่บอกไว้แล้วว่าเมื่อขบวนการสืบทอดอำนาจวางแผนกันไว้ทุกขั้นตอน ย่อมไม่มีใครที่จะยอมให้กับดักที่วางไว้นั้น กลับมารัดคอตัวเองเป็นอันขาด
ต้องรอดูสถานการณ์หลังมีคำวินิจฉัยไปแล้วว่าจะเดินไปในทิศทางใด แต่ฝ่ายกุมอำนาจคงประเมินกันไว้แล้วว่าจะต้องเจอแรงเสียดทานอย่างไรบ้าง จึงยังไม่มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่อ้างว่าไว้ใช้คุมแค่โควิด-19 อย่างเดียว ทั้งที่ 1 ตุลาคมนี้ก็จะเข้าสู่การลดระดับเป็นโรคที่เฝ้าระวังแล้ว เช่นเดียวกับมติ ครม.วันอังคารที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้เพื่อใช้คุมม็อบเพียงอย่างเดียว เผด็จการสืบทอดอำนาจทำได้ทุกอย่างอยู่แล้วขอแค่ให้ได้อยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น ไม่ต้องไปแยแสต่อเรื่องใดทั้งสิ้น