ดีล TRUE-DTAC ส่อจบยาก หลัง “สภาฯผู้บริโภค” 14 จว. จ่อฟ้อง “กสทช.”
ดีล TRUE-DTAC ส่อจบยาก หลังสภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค 14 จังหวัด จ่อฟ้อง “กสทช.” เกี่ยวกับการทำหน้าที่พิจารณาควบรวมกิจการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ให้ความเห็นวงเสวนา “ผลกระทบการผูกขาดมือถือต่อสิทธิพลเมือง 5G” ว่า การทำหน้าที่ของกสทช.ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่ต้องยืนอยู่ข้างประชาชนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ดังนั้น สอบ.และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค 14 จังหวัด กำลังจะยื่นฟ้องกสทช. เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกสทช.ในประเด็นการพิจารณาการควบรวมดังกล่าว
นอกจากนี้จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ในทุกๆภาคส่วนเกี่ยวกับดีลครั้งนี้ เพราะไม่ได้มีเพียงแค่ภาคผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่หากอัตราราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 10-20 บาท ก็มีผลต่อการดำรงชีวิตแล้ว อีกทั้งยังมีกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้พิการ ซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้นหากควบรวมกันสำเร็จและราคาสูงขึ้น กลุ่มเหล่านี้อาจจะต้องไม่ถูกลืม จึงเห็นว่ากสทช.ควรเปิดรับฟังความเห็นต่อเรื่องนี้ไปยังต่างจังหวัด เพราะเรื่องการควบรวมมันส่งผลถึงคนทั้งประเทศ
อีกทั้งการเรียกร้องของสอบ.ไม่ใช่แต่อยู่ในมุมของการดีลการควบรวมแต่ในอนาคตอีก 1-2 ปีโลกจะเข้าสู่ยุค IOT อย่างเต็มรูปแบบการใช้ชีวิตต้องพึ่งพิงกับอินเทอร์เน็ตตามพลวัตของโลก ดังนั้น สิทธิพลเมืองและเสียงของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่กสทช.หรือแม้แต่รัฐบาลเองไม่ควรเพิกเฉย
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสอบ. ระบุว่า นอกจากที่สอบ.และเครือข่าย 14 จังหวัดจะยื่นฟ้องกสทช.แล้ว สอบ.จะร่วมกับพรรคก้าวไกลในการยื่นฟ้องการทำหน้าที่ของกสทช.ในครั้งนี้ด้วย สำหรับประเด็นการควบรวมทรูและดีแทคนั้น ส่วนตัวขอชี้แจงในมุมของผู้บริโภคว่า ทรูเคยส่งข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ 5 ข้อดีของการควบรวม แต่ในมุมกลับกันต้องมองว่าผู้บริโภคจะเสียอะไรไปบ้างหากการควบรวมสำเร็จ โดยทางสอบ.ก็มี 5 เหตุผลที่ไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม
1.ค่าบริการสูงขึ้นแน่นอน เพราะจากการรายงานของอนุกรรมการกสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านคุ้มครองที่กสทช.ตั้งขึ้นมานั้น ก็ระบุว่าค่าบริการมีแนวโน้มสูงสุด สอดคล้องกับหลายๆหน่วยงานที่ระบุ ว่าจะเพิ่มขึ้น 12-224% ดังนั้น เมื่อกสทช.ยังไม่มีหลักประกันอะไรที่จะการันตีได้ว่าอัตราค่าบริการจะไม่สูงขึ้น
2.การควบรวมครั้งนี้คือการรวมกันของผู้ประกอบการรายที่ 2 และ 3 ในตลาด และหลังควบรวมจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือ 2 ราย คือ เอไอเอส และบริษัทใหม่ของทรูและดีแทค ที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 50% ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ และแม้จะอ้างว่า ยังเหลือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที และมี MVNO อื่นๆอีก 2 ราย ก็ไม่ได้สะท้อนการแข่งขันที่แท้จริงได้ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดการควบรวมสภาวะตลาดจะเข้าสู่ระบบผูกขาดถาวร
3.การที่เอกชนอ้างว่าสาเหตุที่ต้องควบรวมเพราะธุรกิจโทรคมนาคมไม่ได้ทำกำไรแล้ว ดังนั้น การจะไปสู่บริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องควบรวมกันนั้น ไม่จริงเสมอไปเพราะปัจจุบันแม้รายได้จากบริการด้านเสียง (Voice) ลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่รายได้จากบริการด้านข้อมูล (Data) ยังอยู่ในระดับที่สูง แสดงว่าผู้ประกอบการยังสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจนี้อยู่ และโครงข่ายโทรคมนาคมยังถือเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ สำคัญสำหรับการหารายได้
4.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มนักเรียนที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับการศึกษาจำเป็นต้องเติมเงินวันละ 30 บาท หรือเดือนละ 900 บาท ในประเด็นนี้กสทช.หรือทั้งทรูและดีแทค ยังไม่เคยมีแผนหรือมาตรการในการคุ้มครองดูแลคนเหล่านี้ และหากเมื่อมีการควบรวมแล้วจะยิ่งทำให้ประชาชนในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบหนัก
5.การควบรวมครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกสทช.มีอำนาจตามประกาศมิให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย อีกทั้ง กสทช. มีหน้าที่ในการนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน