BVG ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 157.50 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai นำเงินพัฒนา AI-ขยายอาเซียน
“บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป” หรือ BVG บริษัทในเครือ “ไทยรับประกันภัยต่อ” ไฟลิ่งขายไอพีโอ 157.50 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai นำเงินพัฒนา AI-ขยายอาเซียน
บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG ในเครือ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 157 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายนหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท 67.50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 35% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ 1)พัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ 2) ขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการลงทุนหรือร่วมทุนกับบริษัทอื่น และ 3) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ
สำหรับ BVG ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) ในประเทศไทย โดยมีความเชี่ยวชาญในด้านพัฒนาแพลตฟอร์มโซลูชันสำหรับธุรกิจประภัยรถยนต์ ระบบนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ครอบคลุมกระบวนการและเชื่อมต่อห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจประกันภัยรถยนต์
โดยบริษัทสามารถให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันในการจัดการค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์อย่างอัตโนมัติ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนถึงกระบวนการปิดจบงานจัดการค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ระบบบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ (e-Claim) ซึ่งเป็นระบบสำหรับการบันทึกข้อมูลผู้เอาประกันภัย กรมธรรม์ และความเสียหายของรถยนต์ และสามารถทำการเสนอและอนุมัติราคาค่าซ่อม ตลอดจนวางใบแจ้งหนี้ได้
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายการให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อให้ครอบคลุมทุกกระบวนการอื่นของธุรกิจประกันภัยรถยนต์ เช่น ระบบจัดซื้ออะไหล่ (e-Part) ระบบบริหารงานภายในอู่ซ่อมสำหรับลูกค้าเงินสด (e-Garage) ระบบบริหารจัดการงานสำรวจภัยอุบัติเหตุรถยนต์ (M-Survey) และโมบายแอปพลิเคชั่น CarMate เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) ในประเทศไทย โดยมีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทประกันภัยมากที่สุดในประเทศ 34 บริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 97% ของจำนวนรายการที่มีการบริหารจัดการเคลมผ่านระบบแพลตฟอร์มบริหารจัดการสินไหมทดแทนประกันรถยนต์ทั้งหมดในปี 64
นอกจากนี้ บริษัทมีธุรกิจให้บริการด้านสนับสนุนการปฏิบัติงานแก่ธุรกิจประกันภัย โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อย ได้แก่
1) บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด (BVTPA) เดิมชื่อบริษัท ไทยรี เซอร์วิสเซส จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้อง (บริการ TPA) และการให้คำปรึกษาจัดอบรมด้านประกันภัย และการบริการสนับสนุนการปฏิบัติงานอื่นๆ แก่บริษัทในเครือ
2) บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด (BVA) เดิมชื่อบริษัท ไทยรี แอคชัวเรียล คอนซัลติ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
และ 3) บริษัท บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด (BVTECH) เดิมชื่อบริษัท ไทยรี อินโนเวชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้บริการพัฒนาแพลตฟอร์ม และให้บริการให้คำปรึกษาและบำรุงรักษาระบบ เป็นต้น
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 สิงหาคม 65 THRE ถือหุ้นสัดส่วน 100% และภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) สัดส่วนถือหุ้นจะลดลงเหลือ 65.00%
ด้านผลการดำเนินงานในช่วงปี 62-64 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการของกลุ่ม เท่ากับ 384.06 ล้านบาท 388.40 ล้านบาท และ 400.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 71.07 ล้านบาท 62.23 ล้านบาท และ 50.16 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่งวด 6 เดือนแรก ปี 64 และ ปี 65 มีมูลค่าเท่ากับ 198.32 ล้านบาทและ 208.86 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิ เท่ากับ 34.30 ล้านบาท และ 26.71 ล้านบาท
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 สินทรัพย์รวม 513.15 ล้านบาท หนี้สินรวม 124.22 ล้านบาท และ ส่วนของผู้ถือหุ้น 388.93 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีจากงบเฉพาะกิจการในแต่ละงวด หลังหักเงินสำรองตามกฎหมายและตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ