สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 ก.ย. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 ก.ย. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงและเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) แล้วในวันจันทร์ (26 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,260.81 จุด ร่วงลง 329.60 จุด หรือ -1.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,655.04 จุด ลดลง 38.19 จุด หรือ -1.03% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,802.92 จุด ลดลง 65.00 จุด หรือ -0.60%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันจันทร์ (26 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังธนาคารกลางต่าง ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ตลาดหุ้นอิตาลีปิดบวกสวนทางตลาดหุ้นอื่น ๆ ในยุโรป หลังจากพรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลี ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดของนางจอร์เจีย เมโลนี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (25 ก.ย.)
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 388.75 จุด ลดลง 1.65 จุด หรือ -0.42%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,769.39 จุด ลดลง 14.02 จุด หรือ -0.24%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,227.92 จุด ลดลง 56.27 จุด หรือ -0.46% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,020.95 จุด เพิ่มขึ้น 2.35 จุด หรือ +0.03%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันจันทร์ (26 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,020.95 จุด เพิ่มขึ้น 2.35 จุด หรือ +0.03%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 เดือนในวันจันทร์ (26 ก.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 2.03 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 76.71 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2565
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 2.09 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 84.06 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ 14 ม.ค. 2565
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในวันจันทร์ (26 ก.ย.) เนื่องจากแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยลบต่อตลาด นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำด้วย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 22.2 ดอลลาร์ หรือ 1.34% ปิดที่ 1,633.4 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 43 เซนต์ หรือ 2.27% ปิดที่ 18.48 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 8.6 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 850.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 21.50 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 2,049 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (26 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของรัฐบาลอังกฤษ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.81% แตะที่ระดับ 114.1030
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9615 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9674 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.0688 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0847 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6459 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6517 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.51 เยน จากระดับ 143.35 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9943 ฟรังก์ จากระดับ 0.9828 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3735 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3604 ดอลลาร์แคนาดา
ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปิดทำการวานนี้ (26 ก.ย.) เนื่องจากผลกระทบพายุไต้ฝุ่นโนรู