GULF-GUNKUL-EA บวกคึก! ลุ้นชิงเค้ก “พลังงานทดแทน” 5,203 MW ปลายปีนี้

GUNKUL-GULF-EA นำทีมวิ่งคึก! ลุ้นชิงเค้กโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5,203 เมกะวัตต์ ฟาก “กัลกุล” ส่งซิกร่วม “กัลฟ์” ชิงวินด์ฟาร์ม-โซลาร์ฟาร์ม 1,000 เมกะวัตต์ ส่วน EA ลุ้นโซลาร์ฟาร์มร่วมแบต 1,000 เมกะวัตต์ จับตากกพ.ประกาศเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้าและประกาศเริ่มเคาะประมูลปลายปีนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 กันยายน 2565) ณ เวลา 10:06 น. ราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อยู่ที่ระดับ 53.25 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.95% สูงสุดที่ระดับ 53.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 53.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 99.57 ล้านบาท

ด้านบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA อยู่ที่ระดับ 89.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.56% สูงสุดที่ระดับ 89.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 89.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 106.53 ล้านบาท

บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL อยู่ที่ระดับ 5.30 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.95% สูงสุดที่ระดับ 5.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 83.84 ล้านบาท

โดยราคาหุ้นกลุ่มไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นวันนี้ หลังเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาประกาศระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยพิจารณาจากเกณฑ์คุณสมบัติและความพร้อมทางด้านเทคนิคที่กำหนด

โดยแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิงที่จะเปิดให้เสนอขายจำนวนรวม 5,203 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) รับซื้อทั้งหมด 335 เมกะวัตต์ 2) พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ 4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กกพ.สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีได้ตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิค คำเสนอขายไฟฟ้า วัน SCOD และศักยภาพระบบไฟฟ้า โดยไม่เกินกรอบเป้าหมายรวมแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ โดยทยอย COD ตั้งแต่ปี 2567-2573 การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565

โดยภายหลังจากระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กกพ.จะออกประกาศรับซื้อโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการและรายการเอกสารแสดงความพร้อมประกอบการเสนอขายไฟฟ้าในแต่ละประเภทพลังงานหมุนเวียนเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต่อไป กำหนดการเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวเริ่มตรวจสอบจุดเชื่อมโยง ต.ค. 2565, ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า พ.ย.-ธ.ค. 2565, ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ ม.ค. 2566, ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก พ.ค.-มิ.ย. 2566 และกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2567-2573

กกพ.คาดว่าจะออกประกาศรับซื้อโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามมติกพช.ที่ผ่านมา โดยจะเป็นการเปิดให้ยื่นเสนอในครั้งเดียว ไม่ใช่การทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภท คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวได้เร็ว ๆ นี้” นายคมกฤช กล่าว

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร GUNKUL กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจที่จะร่วมประมูลขายไฟโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยภายหลังจากที่บริษัทลงนามสัญญาความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนกับกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ทั้งพลังงานลมและโซลาร์ฟาร์ม

ดังนั้น หากกกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวบริษัทก็มีความพร้อมร่วมประมูล บริษัทคาดหวังที่จะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม รวม 500 เมกะวัตต์ และวินด์ฟาร์ม รวม 500 เมกะวัตต์ ส่วนลักษณะการยื่นประมูลนั้น จะยื่นในนาม 2 บริษัท ทั้ง GUNKUL และ GULF

บริษัทเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่ เพื่อเตรียมร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน ที่คาดว่ากกพ.จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นการยื่นทั้ง 2 ฝ่าย คาดหวัง 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี” นางสาวโศภชา กล่าว

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์ม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมความพร้อมในด้านพื้นที่ โดยร่วมมือกับพันธมิตรติดตั้งเสาวัดลมในพื้นที่ที่เตรียมไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะได้เท่าไร ทั้งในโครงการโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์ม เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนของกกพ.ที่จะประกาศออกมาก่อน ในเรื่องข้อกำหนด คุณสมบัติ เงื่อนไข รวมถึงระยะเวลา อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้เปิดให้มีการประมูลมานานแล้ว โดยเฉพาะโครงการวินด์ฟาร์ม ดังนั้นบริษัทจึงมีความสนใจจะเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมด้านพื้นที่ในการยื่นประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์ม ปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีความพร้อมรองรับกำลังการผลิตรวม 30-40 เมกะวัตต์ แต่คงต้องขอดูข้อกำหนดที่กกพ.จะประกาศออกมาก่อน อย่างไรก็ตามบริษัทยังไม่สนใจโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) เนื่องจากยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่กกพ.เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตดังกล่าว คาดว่า GUNKUL และ GULF มีโอกาสจะได้สูง เนื่องจากมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ทั้งพลังงานลมและโซลาร์ อีกทั้งยังมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน

ขณะที่ EA มีโอกาสที่จะได้โครงการพลังงานลม และโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในด้านแบตเตอรี่ โดยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จึงน่าจะมีโอกาสมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ในตลาด อย่าง บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER และบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP ที่อาจจะเข้าร่วมประมูลด้วย

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ประเมินว่า จากที่กกพ.มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเตรียมเปิดยื่นคำเสนอขายในเดือน พ.ย. 2565 เป็นบวกต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มหลักที่คาดหวังปัจจัยบวกจากการเปิดประมูลรอบนี้ คือ GUNKUL แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 5.80 บาท และ GULF คงน้ำหนักการลงทุน หรือ Neutral ราคาเป้าหมาย 55.50 บาท

สำหรับความคืบหน้าต่อแผนการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวม 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์และลม เป็นบวกต่อหุ้นที่มีการเตรียมพร้อมในการประมูลอย่าง GULF, GUNKUL ซึ่งมีการทำ JV เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนร่วมกัน และตั้งเป้ากำลังการผลิตระดับ 1,000 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี

Back to top button