4 แบงก์ใหญ่คึก! ขานรับ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% โบรกชู BBL เด่นสุด เคาะเป้า 167 บ.
4 แบงก์ใหญ่คึก! ขานรับ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ฟาก BBL ประเดิมเจ้าแรกขึ้นดอกเบี้ยกู้พรวดเดียว 0.4% โบรกให้น้ำหนักกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด" เลือก KTB-KBANK เป็นท็อปพิก พร้อมชู BBL ได้ประโยชน์สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ก.ย. 65) ณ เวลา 10:14 น. พบว่าราคาหุ้นธนาคารขนาดใหญ่กอดคอกันขึ้นเชื่อได้รับประโยชน์ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.00% มีผลใช้ทันที นำทีมโดย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 146.00 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 1.74% สูงสุดที่ระดับ 146.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 144.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 674.42 ล้านบาท
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 106.00 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 2.42% สูงสุดที่ระดับ 106.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 104.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 509.84 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 138.50 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 1.84% สูงสุดที่ระดับ 139.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 138.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 381.04 ล้านบาท
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 16.80 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 1.20% สูงสุดที่ระดับ 16.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.70 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 57.74 ล้านบาท
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองกลุ่มธนาคาร Overwieght หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.00%
สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากมาก-น้อยคือ BBL, KTB, KBANK และ SCB โดย BBL แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 167.00 บาท ซึ่งจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด ขณะที่กลุ่มธนาคารยังคงให้น้ำหนัก “มากกว่าตลาด” เลือกโดยเป็น Top pick ได้แก่ KTB แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 18.00 บาท และ KBANK แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 190.00 บาท
ด้านนางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น 0.15-0.50% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ เอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปี
ส่วนเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เพิ่มขึ้น 0.375% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เพิ่มขึ้น 0.30% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2565
ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ฝากเงิน และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ในด้านเงินกู้ ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ย MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่น ๆ