พาราสาวะถี

เป็นการส่งสัญญาณที่เชื่อมั่นว่า “รอด” แน่ ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการวางแผนและขับเคลื่อนของขบวนการสืบทอดอำนาจ หรือแค่ให้กำลังใจน้องเล็ก


เป็นการส่งสัญญาณที่เชื่อมั่นว่า “รอด” แน่ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการวางแผนและขับเคลื่อนของขบวนการสืบทอดอำนาจ หรือแค่ให้กำลังใจน้องเล็ก กับสิ่งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ให้สัมภาษณ์นักข่าวหลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า หลังวันที่ 30 กันยายนนี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะกลับมาทำงานเหมือนเดิม คนที่ได้ฟังคงเคลิ้มตาม ปลื้มปริ่มกับคำหวานที่หยอดมาให้รื่นหู แต่ของจริงก็ต้องรอดูบทสรุปจากศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร

แนวทางการวินิจฉัยพูดกันมาตั้งแต่วันที่ศาลรับเรื่องไว้พิจารณา จะออกมาแบบโน้นแบบนี้ ผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร ประสาของเผด็จการสืบทอดอำนาจหน้าทนไม่สนใจ แยแสกับสิ่งที่อยู่รอบข้างอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับพวกที่เห็นต่าง อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ในมุมที่ว่าหากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อ ก็มีข้อโต้แย้งในแต่ละประเด็น อย่างแรกเรื่องการนับอายุ 8 ปีเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 ไม่สามารถนับก่อนหน้านั้น

มุมโต้แย้งที่สมชัยชี้ให้เห็น คือ มีหลายกรณีที่วินิจฉัยเป็นเรื่องย้อนก่อนหน้าปี 2560 เช่น กรณีการต้องโทษจำคุกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. หรือกรณีการเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระแล้วก่อนหน้าปี 2560 แล้วไม่สามารถสมัครเข้าดำรงตำแหน่งได้อีกของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. เป็นต้น ดังนั้น หากจะสร้างบรรทัดฐานเพื่อให้ทุกคนได้ยึดปฏิบัติก็ต้องไม่มีข้อยกเว้นว่ากฎหมายใช้ได้กับบางคนและเลือกปฏิบัติกับบางคนเท่านั้น

เช่นเดียวกับประเด็นที่ว่าการนับอายุ 8 ปีความเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต้องนับจาก ตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร คือ 9 มิถุนายน 2562  การลงมติให้เป็นนายกฯ ก่อนหน้านั้นเป็นการลงมติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร กรณีนี้ยิ่งมีมุมหักล้างได้ง่ายเพราะถ้าจะบอกว่าเป็นนายกฯ ตามมติสภาผู้แทนราษฎรนั้น ช่วง 5 ปีแรกของรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไม่ใช่ เพราะมี ส.ว.ลากตั้งเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ดังนั้น หากยึดหลักว่าต้องเป็นการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือหลังเลือกตั้งปีหน้า ก็ยังไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ดี แต่เป็นการลงมติของรัฐสภา จึงไม่อาจอ้างสภาที่ลงมติ แต่ต้องดูที่ชื่อตำแหน่งนายกฯ ไม่ว่าจะมาจากสภาใดก็ตาม ความจริงมุมที่จะออกด้านนี้น่าจะเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะมันขัดแย้งในหลายมิติที่จะถูกหลายฝ่ายตั้งข้อกังขาอย่างหนัก

ถ้าเช่นนั้น คำชี้แจงของผู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ที่ระบุว่าต้องนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 สมชัยที่ลงทุนไปเปิดดูบันทึกรายงานการประชุม ครั้งที่ 500 ถึงหอสมุดรัฐสภา พบว่ามีการรับรองยืนยันว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งมีชัย และ สุพจน์ ไข่มุกข์ รองประธาน กรธ. พูดเป็นเสียงเดียวกัน อธิบายหมายความรวมนายกฯ ก่อนหน้าปี 2560 ด้วย เอกสารบันทึกการประชุมที่รับรองแล้ว ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าคำชี้แจงด้วยเอกสารส่วนบุคคลภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายถือหางผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็อ้างว่าบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ที่ระบุว่าให้นับรวมนายกฯ ทุกคนก่อนหน้าปี 2560 ไม่อาจเป็นหลักฐานได้  ต้องดูเอกสารเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ยิ่งไปดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญยิ่งชัดเจน เพราะระบุไว้ชัดการกำหนดข้อห้ามดังกล่าว “เพื่อป้องกันมิให้อยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป อันจะนำไปสู่วิกฤตของบ้านเมือง”  ยิ่งชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งทางพฤตินัยนั้น 8 ปีแล้ว ไม่ต้องหาเรื่องแถทางนิตินัยว่าตีความเป็นอื่นได้

ความจริงก็อย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง ให้ลองไปถามทุกคนในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ คนชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มาแล้วกี่ปี คำตอบคงไม่ต่างกัน ไม่ต้องถามว่านานเกินไปจนจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองหรือไม่ แม้กระทั่งคนที่ถูกร้องเองก็เคยยืนยันหลังการยึดอำนาจว่า ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วทำไมถึงกลับอยากอยู่ยาว แค่ 8 ปีที่ผ่านมานั้น ก็น่าจะมากพอให้พิสูจน์คำพูดที่เคยคุยโม้โอ้อวดก่อนหน้า “เป็นนายกฯ ไม่เห็นยากตรงไหน” มันจริงหรือไม่

การได้กลับคืนสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง หลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มันก็น่าจะเป็นเพียงการรักษาหน้าในฐานะผู้นำในการวางแผนของขบวนการสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่การจะอยู่ต่อไปหลังจากนี้ที่ต้องอาศัยการยอมรับจากประชาชนคงเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องไปเปรียบเทียบว่า ความต้องการของประชาชนเวลานี้ คือ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยคนที่มีความรู้ ความสามารถมากกว่า “ลุง” ขืนดันทุรังกันไปต่อมีแต่จะยากจนข้นแค้นกันลงเรื่อย ๆ

ความจริงไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะส่งชื่อเข้าประกวดในสนามเลือกตั้ง มีบรรดากุนซือของคนกันเองในขบวนการสืบทอดอำนาจได้ทำข้อเปรียบเทียบระหว่างที่น้องเล็กเป็นผู้นำมากกว่า 8 ปี กับที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.รักษาการมาแค่เดือนเศษ บรรยากาศทางการเมืองและบ้านเมืองแตกต่างกันลิบลับ

มองกันว่าแม้จะเป็นเครือข่ายสายสัมพันธ์เดียวกัน แต่พี่ใหญ่นั่งรักษาการความขัดแย้งภายในประเทศดูผ่อนคลายลง ขณะที่บรรดานักการเมืองและข้าราชการดูมีความสุขมากขึ้น ส่วนความใส่ใจในการทำงานของทุกภาคส่วนนั้น ระหว่างลุงกับพี่ใหญ่ต่างกันชัดเจน เพราะพี่ใหญ่จะใช้วิธียกหูหาหัวหน้าส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัดในการให้กำลังใจ และพร้อมจะสนับสนุนไม่ใช่คอยจับผิด ทำให้เกิดความปลาบปลื้มใจและมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

สิ่งสำคัญที่พี่ใหญ่น่าจะมองเห็นวัตรปฏิบัติของน้องเล็ก แต่ตนไม่มีอำนาจจึงต้องปล่อยเลยตามเลย นั่นก็คือ พี่ใหญ่ไม่มีทีมไอโอที่คอยด่าว่าผู้คนหรือผลักไสผู้คน ไม่มีการสร้างความแตกแยกในชาติ ไม่ด้อยค่าคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดี ไม่ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการแบบศาลเจ้า แต่พิจารณาสั่งการเป็นเรื่อง ๆ อย่างรวดเร็วพี่ใหญ่รับฟังความเห็นคัดค้านทัดทาน ขอเพียงมีเหตุมีผล และเกิดประโยชน์แก่ประเทศก็จะจัดการโดยเร็ว นี่แค่กับคนกันเองยังเห็นความต่าง แล้วประชาชนจะไม่อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นหรือ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอก็รู้ แม้จะได้ไปต่อก็ใช่ว่าจะสุขใจ สบายใจ

Back to top button