“ดาวโจนส์” ดิ่งอีก 400 จุด หลัง “สหรัฐ” ชี้ GDP ไตรมาส 1-2 หดตัว ส่อเศรษฐกิจถดถอย

ดาวโจนส์ ดิ่ง 400 จุด หลังเปิดตัวเลข GDP สหรัฐไตรมาส 2/65 หดตัว 0.6% 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 400 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

ณ เวลา 20.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 29,206.41 จุด ลบ 477.33 จุด หรือ 1.61% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.94% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 2.5%

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/65 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.6% ในไตรมาสดังกล่าว ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่า เศรษฐกิจหดตัว 0.9% ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1/65 การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

ด้าน นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบรรลุภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเขาจะยังไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันนี้

โดยดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 500 จุดวานนี้ โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาด

อย่างไรก็ดี การกลับมาแข็งค่าของดอลลาร์ในวันนี้ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองด้วยนั้น ทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับต้นทุนในการชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าการเปิดเผยข้อมูลตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งในวันนี้จะเป็นปัจจัยหนุนการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 193,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 213,000 ราย

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 29,000 ราย สู่ระดับ 1.35 ล้านราย

Back to top button