ธปท.จ่อร่อนหนังสือ สั่งแบงก์ลดปล่อย “สินเชื่อไม่จำเป็น” สกัดหนี้ครัวเรือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือน หลังพบตัวเลขปี 2565 ยังสูงอยู่ในระดับ 88% ต่อจีดีพี โดยเตรียมส่งหนังสือถึงธนาคารทุกแห่งลดการปล่อยสินเชื่อไม่จำเป็น หรือการทำโปรโมชั่นก่อหนี้


นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.กำลังติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือน เนื่องจากหนี้ครัวเรือน ปี 2565 ยังสูงอยู่ในระดับ 88% ต่อจีดีพี และจากการติดตามข้อมูลพบว่า หนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีสัดส่วนหนี้ 35% เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ธปท. มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาใน 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย การแก้หนี้ หรือการลดหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.มีมาตรการดูแลลูกหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่ยังมีลูกหนี้ในกลุ่มที่เปราะบางในภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางผลิตภัณฑ์ยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของหนี้ยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น ธปท.จะยังออกแนวทางการแก้หนี้ในกลุ่มลูกหนี้ที่เปราะบางต่อไป

โดยดูแลการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นคือสถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินจะต้องไม่กระตุกพฤติกรรมผู้กู้ให้ก่อหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือสร้างหนี้ที่ไม่ก่อประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืนแก่ลูกหนี้เอง ซึ่งการดำเนินการในเฟสแรก ธปท.จะเตรียมออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินทุกแห่งให้มีความตระหนักเรื่องการออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อ การโฆษณาแคมเปญต่างๆ ไม่ให้กระตุกพฤติกรรมของลูกหนี้ โดยคาดว่าจะออกหนังสือได้ในไตรมาส 1/2566 เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ขณะเดียวกัน การดูแลคุณภาพหนี้ระยะที่ 2 มุ่งเน้นเรื่องการกำหนดรายได้ของผู้กู้ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเพื่อให้หนี้มีคุณภาพ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ส่วนระดับรายได้ที่เหมาะสมยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะบัตรเครดิตกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ เน้นให้ความรู้และให้คนกู้มีวินัยทางการเงิน เพื่อให้หนี้ครัวเรือนลดลงอยู่ที่ระดับ 80% ของจีดีพีให้ได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินต้องดูในเรื่องของการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ ไม่เพียงแค่พิจารณาถึงมากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ แต่ควรดูไปถึงเงินที่ผู้กู้จะมีเหลือใช้เพื่อใช้จ่ายด้านอื่นด้วย

นอกจากนี้ ธปท.จะเน้นการให้ความรู้ทางการเงิน และวินัยทางการเงินของลูกหนี้ โดยจะเริ่มไปที่การให้ความรู้ที่มากขึ้น เช่น ในกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มอาชีวะ เป็นต้น จะมีแนวทางที่ ธปท.ยื่นมือเข้าไปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ภาคการเงินเพิ่มเติม เช่น ผู้นำชุมชน เป็นต้น โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ในการหาแนวทางที่จะเสริมพลังด้านการให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

Back to top button