พาราสาวะถี
กลับมานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมครม.อย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับผู้นำเผด็จการ แต่วันนี้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ลาป่วยไม่เข้าร่วมประชุม
กลับมานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่วันนี้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ลาป่วยไม่เข้าร่วมประชุม จนถูกตั้งเป็นข้อกังขากันว่าป่วยจริงหรือป่วยการเมือง แต่เท่าที่ฟังรัฐมนตรีหลายรายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าป่วยจริง สงสัยจะใช้ใจบันดาลแรงไปมากในช่วงนั่งรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี พอน้องเล็กกลับมาแล้วเลยหมดแรงทันที แต่ตามข่าวก็บอกว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้เข้าไปเยี่ยมที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ แล้ว หลังเสร็จประชุม ครม.
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะอย่างที่บอกการกลับมาเที่ยวนี้ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ โจทย์ใหญ่ทางการเมืองหลังเลือกตั้งถ้ายังต้องการจะไปต่อ ต้องหามุมมาร้องขอความเห็นใจจากประชาชน เพราะอายุการเป็นนายกฯ ได้ไม่ถึง 2 ปีหลังการเลือกตั้ง ไม่น่าจะมีใครเลือกพรรคที่เสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในยามที่ทุกคนต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ปากท้อง มันจึงทำให้มองเห็นแนวโน้มของการวางมือมากกว่าดันทุรังไปต่อ
ประมาทไม่ได้ประสาคนที่ไม่ยอมให้ใครมากดดัน และเชื่อมั่นอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูว่าประเทศนี้จะขาดตัวเองไม่ได้ ดังนั้น แม้จะเหลือระยะเวลาไม่นานก็ต้องเอาให้สุด เพราะการมีเสียง ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงที่จะมีโอกาสร่วมเลือกนายกฯ อีกสมัยนั้น มันไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากล็อกตัวคนที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าก่อนจะไปถึงตรงนั้นเวลานี้สถานการณ์ทางการเมืองภายในรัฐบาลกำลังถูกจับตามองเรื่องการปรับ ครม.
อย่างที่บอกไว้ นี่เป็นแรงกดดันโดยตรงที่จะถาโถมให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องเร่งตัดสินใจ อันจะเห็นได้จากคำตอบที่ถูกนักข่าวถามหลังการประชุม ครม.ต่อประเด็นดังกล่าว “ยังไม่มีอะไรทั้งนั้นนั่นแหละ ยังไม่ทำอะไร ยังไม่ต้องมาถาม ยังไม่มีอะไรเลย” ถ้ายึดถือทฤษฎีตรงข้ามแสดงว่ามีความเคลื่อนไหวที่จะเสนอให้ปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน ไม่เฉพาะของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเท่านั้น ยังรวมไปถึงพรรคสืบทอดอำนาจด้วย
หลบเลี่ยงมาตลอดนับตั้งแต่ปลด ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2564 โดยยืนยันอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ตนแต่เพียงผู้เดียว แน่นอนว่า คำตอบนี้ไว้ใช้กับการถูกเร่งเร้าจากทางพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.หรือคนในพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์มันมีเหตุที่จะต้องขยับอันเนื่องมาจากการไขก๊อกของ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
แรงกระเพื่อมภายในพรรคเก่าแก่ถ้ามีการเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว คงไม่ใช่แค่ตำแหน่งเดียว สัมผัสได้จากข่าวการแซะเก้าอี้ของ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แม้จะมีการปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง มีพวกไม่หวังดีที่คอยปล่อยข่าวมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ภายใต้บริบททางการเมืองที่ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ พรรคต้องมองไปยังยุทธศาสตร์รัฐมนตรีที่มีอยู่ตอบโจทย์ที่จะสู้ศึกเลือกตั้งไหวหรือไม่
อีกไม่นานก็จะได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ภายในพรรคเก่าแก่ที่จะเสนอชื่อคนนั้นคนนี้เหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรีเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายตามสไตล์ก็ต้องอาศัยมติพรรค เมื่อถึงตรงนั้นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ มันขึ้นอยู่กับว่าการวางตัวบุคคลให้รับเก้าอี้เสนาบดีนั้น เป็นการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค หรือผู้บริหารเหนือพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย กันแน่ แม้จะอ้างว่าพรรคมีกฎ กติกา สำหรับคนในประชาธิปัตย์รู้กันดีว่าเอาเข้าจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ไม่เพียงแต่ประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ต้องขยับ ภูมิใจไทยก็ไม่ต่างกัน ได้ฟัง อนุทิน ชาญวีรกูล สงวนท่าทีต่อเรื่องนี้ แต่การที่มีปม กนกวรรณ วิลาวัลย์ ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จึงต้องย้ำกันอีกครั้ง สุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะต้องส่งสัญญาณให้แสดงสปิริตกัน เพื่อผลักดันคนที่ถูกกำหนดตัวไว้แล้วให้ได้รับการปูนบำเหน็จ ซึ่งพรรคของเสี่ยหนูไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง แย่งเก้าอี้กันอย่างแน่นอน
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ผู้ที่ได้เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยนั้น ล้วนแต่เป็นนายทุนสำคัญของพรรคทั้งสิ้น ดังนั้น บรรดา ส.ส.ที่เหลือแม้ว่าจะมีอาวุโสมากกว่าคนที่ได้เก้าอี้ ก็ไม่หือไม่อือ เพราะในพรรคมีกระบวนการจัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกคน ทุกฝ่ายพอใจ ภายใต้การบริหารจัดการของผู้นำพรรคอย่างแท้จริงคือ เนวิน ชิดชอบ สูตรพลังดูดตกปลาในบ่อเพื่อนนั้น ลำพังเสี่ยหนูไม่สามารถที่จะแสดงศักยภาพได้ขนาดนั้น มันต้องอาศัยชั้นเชิงทางการเมืองที่แพรวพราว คนที่ผ่านพรรคปลาไหลใส่สเก็ตมาแล้วย่อมรู้ดีว่าต้องทำอย่างไร
เหล่านั้นเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคต้องไปว่ากันมา สำหรับพรรคแกนนำรัฐบาลที่มีพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.กุมบังเหียนนั้น จนถึงขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พี่ใหญ่จะจัดกระบวนทัพรับเลือกตั้งโดยใช้คนที่ภักดีต่อตัวเองอย่างแท้จริง ส่วนพวกสายตรงของน้องเล็กจะไม่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปมีบทบาทในการนำ เนื่องจากส่วนหนึ่งมีข่าวว่าจะย้ายสังกัดไปเข้าพรรคที่พลังดูดเร้าใจ ส่วนที่เหลือก็เตรียมการที่จะไปเปิดตัวกับพรรคซึ่งหนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่มีชื่อของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวเท่านั้น
แต่จนถึงขณะนี้ พรรคที่ไปเตรียมการรอก็ไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหวอะไรมากนัก แม้จะแสดงเจตนารมณ์ในการหนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว พลันที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้นับอายุการเป็นนายกฯ 8 ปีตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ ไม่ใช่เริ่มหลังเลือกตั้งปี 2562 ทำให้แผนการที่เตรียมกันไว้ต้องปรับอุตลุด โดยที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกำลังคิดหนัก ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้น แม้จะมีเนติบริกรศรีธนญชัย หรือนักกฎหมายขายตัว คอยหาช่องให้เอาตัวรอดได้ทุกเรื่อง แต่คนเหล่านั้นคิดที่จะวางมือแล้วเช่นกัน เพราะไม่อยากเปลืองตัวจนท้ายที่สุดจะไม่มีแผ่นดินให้อยู่เอาได้