DBSV เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น “อาเซียน-ญี่ปุ่น” ชูกลุ่ม Luxury Brands-เฮลท์แคร์เด่น
DBSV แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นอาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมยืนเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ 1,680 ปีหน้า 1,750 รับท่องเที่ยวฟื้น-เงินไหลเข้า
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด สัมมนาออนไลน์ DBSV Quarterly Review Q4/22 หัวข้อ “ส่องโอกาสลงทุนใหม่ ฝ่าด่านดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจชะลอ”เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 โดยนายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวดโดยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.5% ปลายปี 2022 ก่อนจะหยุดขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจส่งผลให้การบริโภคทั่วโลกชะลอตัวลง จากผลของความเข้มงวดของนโยบายการเงินและการคลัง
“ผมมองว่า เศรษฐกิจประเทศใหญ่จะถูกปรับลดจีดีพี โดย DBS Bank คาดเศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 โตเพียง 0.3% ยุโรปโต 1% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เป็นบวก 1.8% หนุนโดยภาคบริการ หลังเปิดรับนักท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจจีน โตดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการจัดการโควิด ส่วนกลุ่มอาเซียน ยังขยายตัวดี โดดเด่นคือเวียดนาม” นายธนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ดีบีเอสเชื่อว่าถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็จะเป็นแบบไม่รุนแรง (mild recession) โดยปัจจัยสนับสนุนความคิดเห็นที่สำคัญคือ ระบบเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เปราะบางเหมือนอดีต ดูจากหนี้ครัวเรือนลดลงจากในอดีตมาก และตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง อัตราว่างงานต่ำ 3.5%
นายธนวัฒน์กล่าวว่า อัตราการขยายตัวจีดีพี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผลตอบแทนในภาคธุรกิจ (GDP growth & corporate earnings) สมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ช่วง “mild recession” และจะทำให้ผลตอบแทนของ corporate ลดลงไป 6% ก็ได้สะท้อนเข้าไปในสภาวะตลาดปัจจุบันแล้ว ในขณะที่ forward PE ที่ลดลง ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงเริ่มเป็นจุดที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว
โดยมองหุ้นกลุ่ม Luxury brands มีความน่าสนใจ แม้ว่าทิศทางการบริโภคจะชะลอลง แต่กลุ่ม Luxury จะได้แรงหนุนจากความมั่งคั่ง ( wealth) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเช่นกลุ่ม millennial และกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เช่นในจีน รวมทั้งสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้
ขณะที่ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ชอบกลุ่ม Medical devices ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง จากนวัตกรรมใหม่ๆและ ageing population กลุ่ม Healthcare มีลักษณะเป็น “defensive growth” คือเป็นทั้ง defensive และยังมี growth ในระยะยาว กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical devices) มีแนวโน้มขยายตัวสูง จากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆและการขยายจำนวนเตียงในเอเชียเช่นจีน
“การลงทุนในหุ้น คงต้องรอจังหวะผลตอบแทนพันธบัตร ถึงจุดพีค (เมื่อ Fed ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่ม growth โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี โดยดีบีเอส แนะเพิ่มน้ำหนัก หุ้นในตลาดอาเซียน และ ญี่ปุ่น แต่ยังคงปรับลดน้ำหนัก หุ้นยุโรป” นายธนวัฒน์ กล่าว
ส่วนตลาดตราสารหนี้ มองอัตราผลตอบแทน (yield ) ทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้น ตราสารหนี้ระดับลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วมีความน่าสนใจ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกตราสารหนี้กลุ่ม high yield ในตลาดพัฒนาแล้วเข้าพอร์ตบางส่วนเพื่อดึง yield พอร์ตขึ้น
อย่างไรก็ตามยังต้องระหวังความเสี่ยง จากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน, การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล, การเมืองระหว่างประเทศ, เทคโนโลยี, สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม, การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม
ด้านนางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้น Q4/2022 ได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีเกินคาด โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีนี้มีโอกาสทะลุ 10 ล้านคน รวมทั้งจะมีเม็ดเงินลงทุนบางส่วนไหลจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ที่มีฐานะการคลังที่แข็งแรงและเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ซึ่งไทยน่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการลงทุน ถ้าไม่มีปัญหาการเมืองรุนแรง โดยบริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีปีนี้ไว้ที่ระดับ 1680 จุด และเป้าหมายดัชนีปีหน้าที่ระดับ 1750-1800 จุด
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนก็คือ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปในช่วงครึ่งหลังปี 2022 และปี 2023 ที่มีความเสี่ยงชะลอตัว ไปจนถึงการถดถอย นอกจากยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน ธัญพืช และอาหาร ที่มีโอกาสพุ่งขึ้นรอบใหม่ จากปัจจัยฤดูหนาวและผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลให้วิตกเงินเฟ้อสูงอีกรอบ ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งตัวในช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง ทำให้มีความเสี่ยง NPL สูงขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวสูงสุด ในช่วง 3Q/22 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงสุดใน 4Q/22
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย นางสาวอาภาภรณ์ กล่าวว่า ภาคการส่งออกช่วง 8 เดือนของปี 2022 เติบโต11 % ขณะที่ขาดดุลการค้าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะเดือนสิงหาคม 2022 ขาดดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าพลังงานที่มีราคาสูง ซึ่งแม้ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวแต่อาจไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้าในปีนี้ ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ทั่วถึง (เป็น K Curve) สำหรับการเมืองไทย การชุมนุมประท้วงเริ่มกลับมาหลังโควิดคลี่คลาย แต่ถ้าไม่มีปะทะรุนแรง ก็จะกระทบไม่มาก และในอีกแง่หนึ่ง การลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งรอบใหม่ ทำให้เม็ดเงินสะพัดดีขึ้น ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกและทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว ในจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว (เมื่อคาดการณ์ลมพายุไม่ได้อย่างแน่นอน ก็ต้องสร้างเรือที่แข็งแกร่งไว้รองรับ)
ด้านนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง ภาพรวมของอุตสาหกรรมและหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่ง สามารถฝ่าด่านดอกเบี้ยสูง ในภาวะเศรษฐกิจชะลอได้ ที่โดดเด่นคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว คาดในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า 10-11 ล้านคน และปี 66 จำนวน 16 ล้านคน หุ้นที่ได้ผลบวกและเป็นหุ้นเด่นของเรา คือ CENTEL ราคาเป้าหมาย 55 บาท เพราะธุรกิจโรงแรมและอาหารฟื้นตัวสดใส
ส่วนอุตสาหกรรมส่งออก เป็นแรงหนุนที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย สินค้าส่งออกที่โตต่อเนื่อง คือ อาหาร, เกษตรอุตสาหกรรม, สินค้าอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยหนุน จากเงินบาทอ่อนค่า,ค่าขนส่งทางเรือลดลง หุ้นที่น่าสนใจคือ TU มองราคาเป้าหมายเหมาะสมที่ 22.60 บาท เรามองแนวโน้มกำไรจะดีกว่าคาดการณ์ไว้ รวมทั้งยังได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ยอดขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการปรับประมาณการปีนี้เพิ่ม 17% และปี 66 เพิ่ม 3%
นายสมบัติ กล่าวถึง อุตสาหกรรมสื่อสาร จากกระแสการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นการโตทางลัดผสานเทคโนโลยีและประหยัดต้นทุน ในส่วนของกระแส “Digital Transformation” ก็ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์มีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก โดยหุ้น ADVANC โดดเด่น การลงทุนใน TTTBB และ JASIF ถือเป็นก้าวสำคัญในธุรกิจบอร์ดแบนด์หรือเน็ตบ้าน จะได้ลูกค้าเพิ่มอีกถึง 2.5 ล้านราย ในอนาคตสามารถระดมทุนผ่าน JASIF และยังได้แบรนด์ 3BB ที่แข็งแกร่งเพิ่ม รวมถึงได้ทีมขายและทีมติดตั้ง FBB มีความเชี่ยวชาญ และเข้าถึงโครงข่ายบอร์ดแบรนด์ที่ครอบคลุมมากขึ้น ราคาเป้าหมาย 250 บาท
ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ มีแนวโน้มดีจากคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้น หลังโรคโควิดคลี่คลาย ซึ่ง BDMS เป็นหุ้นเด่นที่ได้ปัจจัยบวกจากคนไข้ต่างประเทศ ราคาเป้าหมาย 33 บาท
นายสมบัติ กล่าวถึง อุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรม มีฟื้นตัวดีตามการเปิดเมืองช่วง 8 แรกของปีนี้ นักลงทุนหลักมาจาก ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, USA และยังมีรายได้ค่าเช่า-บริการ และสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำอุตสาหกรรม และค่าไฟฟ้าช่วยลดความเสี่ยงธุรกิจ การลงทุนในโลกอนาคต นิคมฯจะมีบทบาทสำคัญ เช่น รถยนต์ EV, E-Commerce, Digital Platform, ROBOT ขณะที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุน เช่น เขต EEC จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว,มูลค่าที่ดินเพิ่ม… มองว่าหุ้น WHA โดดเด่น
อุตสาหกรรมขนส่ง กลับมาปกติ ส่งผลดีต่อธุรกิจสายการบิน สนามบิน รถไฟฟ้า รถยนต์เช่า ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ฟื้นตัว แต่เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เรือเทกอง เกี่ยวกับการส่งออก ค่าระวางเรือกลับอ่อนลง เพราะสู่ภาวะการค้าปกติ มีการเดินหน้าโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ประมูลรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าไทย-จีน ก็จะมีผลดีในระยะยาว โครงการขนาดใหญ่จะเปิดให้บริการปีหน้า เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง และมีความคืบหน้าโครงการสนามบินต่างๆ แนะนำลงทุนหุ้น BEM ราคาเป้าหมาย 10.40 บาท
ขณะที่อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง คาดจะมีการประมูลงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น Backlog จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หุ้นในกลุ่มแนะนำ CK ราคาเป้าหมาย 25 บาท
ด้านนายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่าทิศทางหลักของตลาดฯในไตรมาส 4/2565 ยังคงผันผวน และอ่อนตัวลงเป็นหลัก (การปรับขึ้น ก็อาจมีได้ แต่จะเป็นไปในลักษณะของการรีบาวด์ฯทางเทคนิคเท่านั้น จากนั้นก็จะเป็นการอ่อนตัวลงต่อ) โดยคาดการณ์ว่าดัชนีน่าจะมีการปรับลงเพื่อทดสอบแนวรับ(ย่อย) ที่ระดับ 1520 – 1500 หรือ 1450 (1400) จุด แล้วจึงจะเปลี่ยนทิศทาง (หรือรีบาวด์ฯ) อีกครั้งตามมา
นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนี SET50 จะมีการรีบาวด์ โดยระวังแนวต้าน 963/973-970/980 หากยังไม่ผ่านระวังการลงรอบใหม่ การลงหลุด 930 จะเป็นสัญญาณลงต่อมีแนวรับถัดไป 900/875
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 2 ปี ปรับขึ้นสู่ระดับพีคเข้าใกล้ช่วง DotPlot ของเฟดที่ 4.4%-4.6% บ่งชี้ว่าตลาดรับรู้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยไประดับหนึ่ง ทำให้ Yield ลดลง หุ้นเด้งสั้นได้เป็นระยะๆ แต่ตลาดหุ้นที่จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือนจึงจะเห็นผลกระทบ การลงทุนในหุ้น ระยะกลางยังต้องระมัดระวัง
สำหรับทิศทางทองคำ มีแนวโน้ม กลับมาทะลุ 1680/1700 แนวต้านที่แข็งแกร่งได้ มีแรงส่งต่อ แต่ช่วงสั้นก็จะมีแนวต้านที่ 1735/1750 และ 1800 ที่ทำให้ชะลอตัวลง หากยังเป็นบวกต้องไม่กลับไปหลุดต่ำกว่า 1680 อีกมิฉะนั้นมีโอกาสทำจุดต่ำสุดใหม่ ค่าเงินบาท หากการพักฐานต้องไม่หลุด 37+/-0.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะขึ้นรอบใหม่ และแนวต้านถัดไป 39.5/40 หากหลุดต่ำกว่าเปลี่ยนแนวโน้มเป็นแข็งค่า