10 อุตสาหกรรมอนาคตพลวัต2015
รัฐบาลชุดนี้ มีอะไรแปลกๆ จะออกนโยบายเศรษฐกิจสาธารณะอะไรมา ก็มักจะทำกันเงียบๆ ไม่เคยบอกกล่าวล่วงหน้า ผิดหลักการ wisdom of crowd อย่างชัดเจน
รัฐบาลชุดนี้ มีอะไรแปลกๆ จะออกนโยบายเศรษฐกิจสาธารณะอะไรมา ก็มักจะทำกันเงียบๆ ไม่เคยบอกกล่าวล่วงหน้า ผิดหลักการ wisdom of crowd อย่างชัดเจน
นอกเหนือจากเรื่องรถไฟทางคู่กับจีนที่ล่าสุดออกมาบอกว่าจะวางศิลาฤกษ์ทั้งที่ไม่มีผลการศึกษาอะไรมารองรับอะไรเลย ยังมีมติครม.ล่าสุดเมื่อวานนี้ออกมา เป็นแผน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อนาคต หรือ New Engine of Growth ซึ่งเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ ครม.ก็ขานรับอย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องเสียเวลามาก
แผนดังกล่าว ระบุให้จากนี้ไป ประเทศไทยจะมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต จำนวน 10 คลัสเตอร์ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุน ต่อไป
แผนนี้ จะให้ตามมาด้วยมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนเงินทุน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป โดยจะมีการออกแบบมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณามาตรการสนับสนุน
กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำหน้าที่หลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ
แผนนี้ แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมี 5 อุตสาหกรรมคือ กลุ่มแรกเรียกว่า First s-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต โดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลางในลักษณะการต่อยอด ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
แผนระบุว่า ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเดิมนี้ มีขีดจำกัด เพราะไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา New S-curve ควบคู่ไปด้วย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ ประกอบด้วย
6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
9) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)
10)อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ตามแผนดังกล่าว ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ระบุว่า การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่
พิจารณาอย่างหยาบๆ แผน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว มีรายละเอียดไม่มากนัก เมื่อเทียบกับแผนปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมจีนที่ประกาศไม่นานมานี้ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า จะมุ่งไปสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สะอาด และ นำมาใช้ใหม่อย่างบูรณาการ
นอกจากนั้น ยังไม่อาจจะเทียบเคียงกับแผนของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ประกาศไปก่อนหน้านี้เช่นกัน ที่มีทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมาตรการทางการคลังสารพัดชนิดที่ดึงดูดใจนักลงทุนได้ค่อนข้างมาก จนกลายเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนได้ค่อนข้างมากในยามนี้
สิ่งที่เป็นปริศนามากที่สุดสำหรับแผน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย(ซึ่งให้ความสำคัญต่ำมากกับอุตสาหกรรมพื้นฐาน) ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะขับเคลื่อนได้หรือไม่ แต่อยู่ที่รากฐานความคิดที่มาของข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ได้มีการไตร่ตรองรอบคอบมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า ความเป็นไปได้ของแผนการแห่งอนาคตเช่นนี้ จะถูกนำไปปฏิบัติได้ดีเพียงใด
สังคมไทยต้องการมากกว่าเป็นแค่ข้อเสนอของ “การตลาดทางการเมือง”ธรรมดา แบบที่เทคโนแครตสติเฟื่องที่นิยมโหนกระแสรัฐบาลเผด็จการชอบกระทำในอดีต