ทุนสำรองไทยปึ้ก! ธปท.แจงสูงอันดับ 6 โลก เหตุทองลงทำเงินหด

แบงก์ชาติประชุมนักวิเคราะห์ แจงทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง มาจากการตีราคาสินทรัพย์ที่ถืออยู่ลดลงเป็นหลัก ส่วนการต่อสู้ค่าเงิน ส่งผลเพียงเล็กน้อย ย้ำทุนสำรองฯ ไทยยังอยู่สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือ 1.99 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มั่นใจต่างชาติยังขนเงินลงทุนเข้าตลาดหุ้น


นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ยืนยันว่ายังมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภาพรวมและปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง แต่เงินทุนสำรองฯ ของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูงถึง 50% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอยู่ในระดับสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก (ณ วันที่ 30 ก.ย. 65 จำนวน 199,444.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้นเรื่องของความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายรุนแรงมองว่ามีข้อจำกัด

ส่วนมูลค่าเงินกองทุนฯ สิ้นเดือน ก.ย. 65 ลดลงไปประมาณ 18.9% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 64 (จำนวน 245,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้น โดยหลักการแล้ว เงินทุนสำรองฯ จะลดลงได้จาก 2 ปัจจัย กล่าวคือ จากการตีราคาสินทรัพย์ที่ถืออยู่ทั่วโลกลดลง และ 2.จากการเข้าดูแลค่าเงิน ซึ่งที่ผ่านมาสาเหตุส่วนใหญ่ที่เงินทุนสำรองฯ ของไทยลดลง จะมาจากกรณีของการตีราคาสินทรัพย์ที่ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก

มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับไปตามปัจจัยพื้นฐาน จะเป็นกลไกที่ดีในการรับแรงกระแทกจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศตอนนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินยังสะท้อนปัจจัยพื้นฐาน” นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่ต้นปี 65 มีเงินทุนจากต่างประเทศ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้ามายังตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเข้ามายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูง นับว่านักลงทุนมีความเชื่อถือต่อตลาดหุ้นไทยที่มีความทนทานค่อนข้างมากเมื่อเทียบมุมมองเรื่องของความเปราะบางในด้านต่าง ๆ แล้ว แต่พอมองไปในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเป็นขาขึ้นสวนเศรษฐกิจโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนดังกล่าวมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย

นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นไทยมาก จะเห็นว่าเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก หุ้นไทยไม่ปรับลดลงมากนักเมื่อเทียบกับที่อื่น ดังนั้นเรื่องเงินทุนสำรองฯ ธปท.ไม่คิดว่าจะไม่เพียงพอหากเกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย และขอย้ำว่าเงินทุนสำรองฯ ของไทยยังมีความแข็งแกร่งมาก และอยู่ในระดับที่สูงมาก” นายปิติ กล่าว

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 65 และ 66 จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมองว่าจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 4/65 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นทั้งในปี 65 และ 66 ตามการส่งผ่านต้นทุน กนง.เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางที่เหมาะสม และพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

กนง.จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินให้ตลาดสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ ไม่ต้องการจะเซอร์ไพรส์ตลาด แต่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้ยาก ดังนั้นการจะให้ผูกมัดลงไปชัดเจนว่าจะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมนัก” นายปิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังขึ้นต่อไปอีกระยะ แต่จะไปหยุดตอนไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นว่าจะเป็นอย่างไร และเห็นว่าคงอีกสักระยะกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ โดยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง-2 ปี

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในปี 64 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ซื้อทองคำสุทธิในทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะที่สุด เพิ่มขึ้น 90.20 ตัน และอยู่อันดับ 22 สำหรับประเทศที่มีสัดส่วนการถือทองคำมากสุด หรือราว 244.2 ตัน (ข้อมูลเดือน ธ.ค.64)

สำหรับกราฟราคาทองคำตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าปรับตัวลดลงจากระดับ 2,050 ออนซ์ มาที่ 1,652 ออนซ์ ซึ่งปรับตัวลดลงราว 400 ออนซ์

Back to top button