ช่วยน้ำท่วมหน่อยสิ: กรุงเทพฯ

พื้นที่กรุงเทพฯ แห้งผากมาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว แต่พี่น้องใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา ตั้งแต่ชัยนาทถึงปทุมธานี ยังทุกข์ระทมจากปัญหาน้ำท่วมอยู่


พื้นที่กรุงเทพฯ แห้งผากมาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว แต่พี่น้องใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา ตั้งแต่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ยังทุกข์ระทมจากปัญหาน้ำท่วมอยู่

กรุงเทพฯ สบาย แต่พี่น้องเหนือกรุงเทพฯ ที่อาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นฟลัดเวย์หรือทางระบายน้ำสายหลัก ยังคงต้องทุกข์ระทมกับการแบกรับมวลน้ำมหาศาล ที่เอ่อท่วมหมู่บ้านและท้องทุ่ง

อย่างเช่น อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างเนี้ย น้ำยังคงเข้าท่วมพื้นที่เต็มครบ 16 ตำบล ระดับน้ำท่วมก็ไม่ใช่น้อย ๆ ถึงระดับชั้น 2 ของบ้าน ต้องไปอยู่กินกันบนหลังคาเลยทีเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน  กรุงเทพฯ อันเป็นแผ่นดินผืนสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนปล่อยไหลออกสู่ทะเล กลับได้รับผลกระทบจากการเอ่อล้นของแม่น้ำเจ้าพระยาน้อยมาก ๆ

ปัญหาน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ ในปีนี้ เกิดจากท่อระบายน้ำอุดตัน ขวางทางน้ำมากกว่า “น้ำเหนือหลาก”

เมื่อลอกท่อทำลายขยะ ไขมันอุดตัน หรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆ แล้ว น้ำก็ไหลสู่ระบบคูคลอง ใช้เวลาช่วงแค่ข้ามวันหรือข้ามคืน น้ำท่วมขังก็แห้งกริ๊บได้

อันที่จริงแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีระบบเบี่ยงน้ำ เพื่อตัดปริมาณน้ำมิให้เป็นภาระหนักแก่เจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกอยู่ หากได้รับการปรับปรุงก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดปริมาณน้ำเจ้าพระยาได้ดีกว่านี้

เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ทางทิศตะวันตกที่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า นั่นคือต้นแม่น้ำท่าจีน ที่ไหลผ่านสุพรรณบุรี นครปฐม มาออกอ่าวไทยที่ จ.สมุทรสาคร

แต่เส้นทางแม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยวมาก หากมีการขุดแม่น้ำลัดให้เส้นทางตรงขึ้น เช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ในพระราชดำริ ร.9 ก็จะทำให้เส้นทางแม่น้ำตรงขึ้น น้ำสามารถไหลระบายได้เร็วขึ้น

นอกจากนั้นก็ยังมีแม่น้ำน้อย ไหลคู่ขนานไปกับเจ้าพระยา จนไปบรรจบกับเจ้าพระยาอีกครั้งที่ด้านใต้ จ.พระนครศรีอยุธยา

เหนือเขื่อนเจ้าพระยาทางทิศตะวันออกอีกเช่นกัน ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท มีคลองชัยนาทป่าสัก เป็นคลองขุดเส้นทางตรงเพื่อผันน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาไปยังแม่น้ำป่าสัก ระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร

และเมื่อบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่ อ.ท่าเรือ อยุธยา ก็ยังมีเขื่อนพระราม 9 ตัดน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงใต้ไปยังคลองระพีพัฒน์ สิ้นสุดที่ อ.หนองแค สระบุรี

จากนั้นมีประตูผันน้ำลงใต้มาบรรจบกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งทางด้านทิศตะวันตกมีประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ผันน้ำออกสู่เจ้าพระยาได้ ทางรังสิต และปลายคลองรังสิตฯ ทางตะวันออกก็มีคลองทะเลต่าง ๆ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตรับน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกงไปลงทะเล

โดยสรุปปัญหาโครงข่ายการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ มีโครงข่ายที่ดีพอสมควร หากบริหารจัดการได้ดีก็จะไม่มีปัญหา

แต่ปัญหากรุงเทพฯ ไม่มีน้ำท่วมเลย (น้ำรอระบายแค่ชั่วข้ามคืนหรือข้ามวันจากน้ำฝน ไม่ถือเป็นน้ำท่วมหรอก) แต่เหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไปตั้งแต่ปทุมฯ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ยังมีน้ำท่วมอยู่เป็นเดือน-สองเดือน นับเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก

สาเหตุหลักประการหนึ่งก็คือ ผันน้ำทางตะวันตกมาก แต่ผันน้ำทางตะวันออกน้อยเกินไป ทำให้คลองหลักได้แก่คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิตฯ ไม่สามารถจะแบ่งเบาภาระเจ้าพระยาได้เต็มที่

สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งก็คือ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแผ่นดินสุดท้ายก่อนน้ำลงทะเล ก็ไม่มีการเร่งรัดปล่อยน้ำลงสู่คลองหลักต่าง ๆ เพื่อจะได้รับมวลน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมตอนเหนือกรุงเทพฯ เลย

คลองหลักต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ แห้งผาก อาทิ คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ คลองเปรมประชากร คลองสามเสน คลองแสนแสบ คลองประเวศฯ และคลองพระโขนง ระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตร นั่นแสดงว่า กรุงเทพฯ มีแนวปิดกั้น ไม่ให้น้ำทางตอนเหนือ ไหลหลากเข้ามาในพื้นที่เลย

อย่าคิดแต่เอาตัวรอดคนเดียว ควรจะคิดให้กรุงเทพฯ ช่วยรับระบายน้ำคลายทุกข์พี่น้องทางตอนบนลงมาบ้าง

Back to top button