พาราสาวะถี
ออกลูกขยันเป็นพิเศษ ลงพื้นที่ถี่ยิบสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่วันวานไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมและให้กำลังใจประชาชนชาวสิงห์บุรี
ออกลูกขยันเป็นพิเศษ ลงพื้นที่ถี่ยิบสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่วันวานไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมและให้กำลังใจประชาชนชาวสิงห์บุรี ท่วงทำนองเช่นนี้คงเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าจะวางมือทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ การเลือกที่จะเดินทางไปในพื้นที่เฉพาะเจาะจง ที่ชัดเจนว่าเป็นฐานเสียงของบรรดาคนสายตรงนั้น มันก็เป็นเหมือนการเตือนไปยังพรรคสืบทอดอำนาจไปในตัวว่า ถ้ายังจะมีแคนดิเดตมาประกบ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจย่อมเซย์โนที่จะร่วมทางแน่นอน
ขณะที่ทิศทางของพรรคสืบทอดอำนาจ ความเห็นของประธานวิปรัฐบาล นิโรธ สุนทรเลขา ที่เสนอให้ดึงตัว “หม่อมอุ๋ย” หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจยุค คสช.มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค เท่ากับเป็นการยอมรับว่าระดับนำภายในพรรคที่มีมือไม่ถึง ส่วนคนนอกที่จะดึงมาร่วมทัพก็ไม่มีใครกล้าเอาตัวมาเสี่ยง ดังนั้น จึงต้องอาศัยสัมพันธ์ส่วนตัวของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.กับหม่อมอุ๋ยในการที่จะจับมือกันเพื่อให้พรรคมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่จะสามารถต่อกรกับพรรคอื่นได้โดยเฉพาะเพื่อไทย
แต่ก็ชวนให้เกิดคำถามตัวโตถึงความเป็นไปได้ที่จะมาเดินร่วมทางกัน เพราะหม่อมอุ๋ยเพิ่งไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร ฟันธงว่านาฬิกาหรูที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.อ้างว่ายืมเพื่อนมา คือ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ นั้น ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่เห็นลิสต์นาฬิกาหรูอยู่ในรายละเอียดทรัพย์สินที่ทายาทได้รับสืบทอดมา จนทำให้เกิดข้อกังขาว่าแล้วพี่ใหญ่ไปยืมใครมาใส่หรือเป็นของตัวเอง ด้วยท่าทีเช่นนี้พรรคสืบทอดอำนาจยังจะดึงมาร่วมงานได้อีกอย่างนั้นหรือ
อย่างไรก็ตาม พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็ปฏิเสธในเรื่องนี้ โดยชี้ว่าหม่อมอุ๋ยจะไปรู้อะไรเรื่องของนาฬิกา บางอย่างผู้จัดการมรดกก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรับทราบ เท่ากับเป็นการยืนยันในสัมพันธ์ที่ยังดีต่อกันอยู่ ไม่ได้เป็นการปิดโอกาสที่จะดึงมาร่วมงานกันในอนาคต ประกอบกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.และรัฐบาลปัจจุบันของหม่อมอุ๋ยก็จำเพาะเจาะจงไปที่ตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อ นั่นก็หมายความว่า ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับพี่ใหญ่แต่อย่างใด
มิหนำซ้ำ ยังถูกมองว่าสิ่งที่แสดงออกเช่นนี้เหมือนเป็นการดิสเครดิตอีกคนเพื่อให้อีกคนดูมีภาษีกว่า เป็นธรรมดาของคนที่เคยร่วมงานกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เข้าไปเห็นถึงสภาพปัญหาของการรวบอำนาจ เชื่อฟังแต่คนที่ตัวเองไว้ใจ พวกที่ไม่ใช่สายตรงเหมือนเป็นไม้ประดับเพื่อทำให้ฐานะคนดีดูมีค่ามีราคาเท่านั้น เมื่อการเมืองเดินทางมาถึงจังหวะที่จะต้องเลือกตั้งอีกคำรบ บนสถานการณ์คนเบื่อหน่ายหัวขบวนสืบทอดอำนาจ มันจึงเป็นโอกาสของฝ่ายที่เฝ้ารอจะต้องทำทุกทางเพื่อให้อีกฝ่ายไม่ได้ผุดได้เกิด
ขณะเดียวกัน การเสนอชื่อหม่อมอุ๋ยให้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคสืบทอดอำนาจ คงจะรวมไปถึงมีการชงให้เกิดการปรับ ครม.เพื่อที่จะได้ให้เจ้าตัวเข้าไปมีบทบาทในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย นั่นเท่ากับเป็นการตบหน้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจฉาดใหญ่ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเรือเหล็ก จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ แต่คนที่มีหัวโขนประธานวิปรัฐบาลเสนอเช่นนี้ก็เท่ากับไม่ไว้หน้าน้องเล็กของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.แม้แต่น้อย
ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้การกลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงสงวนท่าที ปิดปากไม่ยอมให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมือง เพราะยิ่งพูดมากมันจะย้อนกลับเข้าตัวเองทั้งหมด ไม่เพียงแต่ข้อเสนอของประธานวิปรัฐบาลเท่านั้น วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองฐานะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคสืบทอดอำนาจยังแสดงความหนักใจต่อการเลือกตั้งเที่ยวนี้ว่าพรรคอยู่ในฐานะลำบาก
อย่าลืมว่าเจ้าตัวเป็นผู้จุดประเด็นให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศความชัดเจนและรีบสมัครเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจ เพื่อความง่ายในการนำเสนอนโยบายและทางเลือกให้กับประชาชน จนพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ถึงขั้นควันออกหูไล่ให้นักข่าวไปถาม “ไอ้วีระกร” เอาเองว่าทำไมถึงเสนอแบบนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นที่รับรู้กันทางการเมืองอยู่แล้วว่า กระแสความนิยมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ยังหลงเหลืออยู่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น
ภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานเกือบทั้งหมด แทบจะไม่ต้องสืบกันแล้วว่า คนส่วนใหญ่ได้ตั้งธงในการเลือกตั้งไว้อย่างไร ขณะที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ก็เกิดความระส่ำ ถ้าเกิดข่าวที่ว่า ธรรมนัส พรหมเผ่า เตรียมกลับบ้านเก่าเพื่อไทยเป็นจริง เช่นเดียวกันกับทีมงานสามมิตร พรรคสืบทอดอำนาจแทบจะไม่เหลืออะไร ยังไม่นับรวมพวกที่ถูกเพื่อนร่วมรัฐบาลแจกกล้วยดึงตัวให้ย้ายคอกอีกจำนวนหนึ่ง นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ต้องรีบสะสางจะวางตัว กำหนดทิศทางกันอย่างไร
ส่วนที่มีการส่งสัญญาณให้จับตาดูการเมืองหลังเสร็จการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คะแนนนิยมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากการเตรียมงาน ยิ่งได้ฟังโฆษกรัฐบาลแจกแจงรายละเอียดของการเตรียมความพร้อมไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มันชวนให้เกิดความรู้สึกวังเวงมากกว่าจะเกิดความหวังยังไงชอบกล เมื่อเป็นเช่นนั้น หลังประชุมเอเปคสิ่งน่าจะลุ้นคงจะเป็นเรื่องของการยุบสภามากกว่า
เรื่องที่ว่าจะมีการปรับ ครม.ก่อนยุบสภานั้น หยั่งน้ำเสียงจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจล่าสุดที่บอก “ยังไม่มี” พร้อมออกอาการส่ายหัวรัว ๆ ก็อาจเป็นนัยทางการเมืองที่ว่าขยับกันลำบาก ครั้นจะชงแค่รายชื่อของ นริศ ขำนุรักษ์ จากประชาธิปัตย์ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยเพียงรายเดียวมันก็จะเกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนักภายในพรรคสืบทอดอำนาจ เพราะมีคนอยากเป็นรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้งหลายราย ส่วนตัวผู้นำเมื่อจะไปต่อและต้องแยกกันเดินกับพี่ใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้องผลักดันคนของตัวเองให้มาแย่งโควตาของพรรคซึ่งนั่นเป็นเรื่องใหญ่กว่า บางทีการปล่อยวาง วางมืออาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ