“เวิลด์แบงก์” ชี้คนชนบท “ไทย” เสี่ยงยากจนขึ้น หลังโดนพิษโควิด
“เวิลด์แบงก์” เตือนประชาชนในพื้นที่ชนบทของไทย เสี่ยงเผชิญความยากจนมากขึ้น หลังกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยาวนาน
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงานเตือนว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่ยาวนานต่อพื้นที่ชนบทของไทย โดยพื้นที่ชนบทดังกล่าวมีคนยากจนอาศัยอยู่สูงมากถึง 79% ของจำนวนคนยากจนทั้งประเทศ
โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารโลกได้ออกรายงานที่ชื่อว่า “Rural Income Diagnostic” เมื่อวันศุกร์ (21 ต.ค.) โดยระบุว่า ในขณะที่ไทยมีความคืบหน้าในการลดความยากจนลงสู่ระดับ 6.8% ในปี 2563 จากระดับสูงถึง 58% ในปี 2533 แต่อัตราความยากจนของไทยในขณะนี้กำลังสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง, ภาวะชะงักงันของรายได้ด้านการเกษตรและการทำธุรกิจ และวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับในปี 2563 อัตราความยากจนในพื้นที่ชนบทอยู่ในระดับสูงกว่าพื้นที่เขตเมืองมากกว่า 3% และจำนวนคนยากจนในพื้นที่ชนบทมีมากกว่าคนยากจนในพื้นที่เขตเมืองเกือบ 2.3 ล้านคน
นอกจากนี้ การกระจายตัวของความยากจนยังแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยอัตราความยากจนในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีสัดส่วนเกือบ 2 เท่าของอัตราความยากจนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ประเทศไทยมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยภาคครัวเรือนในพื้นที่ชนบทนั้นมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 68% ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของภาคครัวเรือนในพื้นที่เขตเมือง นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนในพื้นที่ชนบทยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาด้อยการศึกษา, มีผู้ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูจำนวนมาก และสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
อย่างไรก็ดี นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อภาพรวมของไทย โดยกล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการสนับสนุนรายได้ภาคครัวเรือนในพื้นที่ชนบทให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน มาตรการด้านนโยบายที่ช่วยเพิ่มผลิตผลด้านการเกษตร, สนับสนุนการกระจายพืชผลให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น และปรับปรุงการเข้าถึงตลาดผ่านทางการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ชนบทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ไทยสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่บรรดาคนยากจนในพื้นที่ชนบทเผชิญอยู่ไปได้