พาราสาวะถี
ข้าทำนอง “นายกฯ คนละครึ่ง” หากเป็นก่อนหน้านั้นที่สัมพันธ์ของพี่น้องแก๊ง 3 ป.ยังคงเหนียวแน่น คงไม่มีปัญหาอะไร
การเดินเกมการเมืองเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึงครึ่งปีข้างหน้าของพรรคสืบทอดอำนาจ ยิ่งนานวันดูเหมือนว่าตัวเลือกและแนวทางในการที่จะนำเสนอให้ประชาชนยังคงไว้วางใจเลือกใช้บริการเหลือน้อยลงทุกที สูตรที่ว่า “หมดลุงตู่ สู่ลุงป้อม” คือการผ่าทางตันจากข้อจำกัดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่หลังเลือกตั้งจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากสำหรับพรรคแกนนำรัฐบาล ดังนั้น การชงตัวเลือกว่าหลังจากสองปีไปแล้วจะเป็นหน้าที่ของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. จึงน่าจะลงตัวที่สุด
เข้าทำนอง “นายกฯ คนละครึ่ง” หากเป็นก่อนหน้านั้นที่สัมพันธ์ของพี่น้องแก๊ง 3 ป.ยังคงเหนียวแน่น คงไม่มีปัญหาอะไร การนำเสนอแนวทางเช่นนี้ย่อมสร้างความคึกคักและทำให้พรรคสืบทอดอำนาจมีความหวังเรืองรองกลับคืนมาอย่างแน่นอน แต่เมื่อความรักใคร่ กลมเกลียวมันได้หดหายไปแล้วนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ความพยายามของคนในพรรคเพื่อที่จะหาความลงตัว สร้างความได้เปรียบก่อนสู้ศึกเลือกตั้งมันจึงเต็มไปด้วยคำถาม
เป็นที่รู้กันภายในพรรคสืบทอดอำนาจอยู่แล้วว่า พี่ใหญ่กับน้องเล็กที่สัมพันธ์มีปัญหานั้น เกิดจากคนใกล้ตัวที่ต่างฝ่ายต่างไว้วางใจ พากันเสนอแนะ ชี้นำ ให้คำปรึกษาแก่นายของตัวเองเพื่อหวังผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและพวกพ้อง ในส่วนของพี่ใหญ่ดำเนินการไปเพื่อผลทางการเมืองอันหมายถึงภาพใหญ่ขององคาพยพที่ตัวเองเป็นผู้นำเพื่อให้ขับเคลื่อนบรรลุไปสู้เป้าหมายความเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลต่อไป โดยต้องให้การดูแลนักเลือกตั้งอย่างทั่วถึง
ขณะที่น้องเล็ก เลือกที่จะดูแลแต่พวกไม่ได้ใส่ใจพรรค การแตกหักกับ ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงเป็นตัวอย่างหนึ่ง ยังไม่นับรวมการเลี้ยงดู ให้ท้ายบรรดารัฐมนตรีสายตรง เพื่อหวังที่จะเข้าไปฮุบอำนาจในการบริหารจัดการพรรคสืบทอดอำนาจ นั่นถือเป็นอีกจุดที่ทำให้พี่ใหญ่ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นตัวบีบคั้นอยู่เวลานี้ ถือเป็นจุดวัดใจของพี่ใหญ่กับน้องเล็กอยู่ไม่น้อย จะแยกกันเดินหรือกอดคอกันไปต่อ
โดยที่ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหนท่ามกลางกระแสความนิยมที่ตกต่ำเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องน่าหนักใจทั้งสิ้น แต่เมื่อวิเคราะห์โดยภาพรวมแล้ว การกอดคอกันไปต่อภายใต้สโลแกนหมดลุงตู่สู่ลุงป้อม น่าจะเป็นเกมวิน-วินทั้งสองฝ่าย เพราะในแง่ของกระแสส่วนตัวสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในพื้นที่ภาคใต้ถือว่ายังขายได้อยู่ ดังนั้น หากพี่ใหญ่ยังเลือกใช้บริการกันต่อไป โอกาสที่ยังรักษาจำนวน ส.ส.ของพรรคไว้ได้เท่าเดิมก็ยังมีความเป็นไปได้
ขณะเดียวกัน ประสาของนักการเมืองยังคงมีความเชื่อว่าด้วยความเป็นฝ่ายกุมอำนาจเมื่อถึงคราวเลือกตั้ง จะสามารถใช้กลยุทธ์ที่ได้เปรียบคู่แข่งอย่างแน่นอน ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ที่ต้องไม่ลืมคือ อย่างไรเสีย หลังเลือกตั้งยังมีเสียง 250 ส.ว.ลากตั้งรอที่จะโหวตให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ อยู่แล้ว ดังนั้น การกอดคอกันเดินต่อไม่ว่าจะยังไงก็ยังคงได้เปรียบคู่แข่งทุกประตูแน่นอน แต่สิ่งที่นักเลือกตั้งไม่ได้คิดมากไปกว่านั้นคือ แนวคิดเช่นนี้มันสอดรับกับความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือไม่
อย่าลืมเป็นอันขาดตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้น ความศรัทธา เชื่อถือต่อตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจดีมาตลอดในช่วง 4-5 ปีแรก แต่พอเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 จนกระทั่งปัญหาเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามา ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ฝ่ายถือหางต่างรอดูกันว่าคนที่เป็นผู้นำจะแสดงความสามารถ โชว์ศักยภาพในการบริหารจัดการได้ดีเพียงใด ซึ่งมาถึงนาทีนี้ก็พิสูจน์แล้วว่ามันได้นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายและคนส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
เปลี่ยนแปลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น แม้ภาคใต้จะเป็นฐานเสียงสำคัญของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่ผลการสำรวจความเห็นของคนใต้ล่าสุด กลับต้องการที่จะเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด นั่นเท่ากับว่า ชอบแต่ตัวบุคคลแต่ไม่เลือกพรรคแกนนำรัฐบาลอีกแล้ว มันจึงเป็นสิ่งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ต้องคิดหนัก ได้คะแนนส่วนตัวแต่พรรคไม่ได้ด้วยมันจะมีประโยชน์อันใด มากไปกว่านั้น การจัดวางตัวบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีหนหน้าต้องเคลียร์กันให้ชัดว่าจะจัดสรรกันอย่างไร
เพราะปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่พี่ใหญ่ต้องประสบจากการกลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ทางส่วนตัวพี่ใหญ่ถูกยึดอำนาจที่ตัวเองเคยมีทั้งความเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และรองนายกฝ่ายความมั่นคงที่เคยกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปหน้าตาเฉย ไม่เพียงเท่านั้นคนที่ไม่ได้ลงทุน ลงแรง กลับขอโควตารัฐมนตรีไปไว้กับตัว จนสร้างปัญหาในการจัดสรรเก้าอี้ภายในพรรคสืบทอดอำนาจ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่อง จนต้องใช้วิธีการแจกกล้วยเพื่อไม่ให้แพแตก
ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าคนที่ยืนอยู่เบื้องหลังพี่ใหญ่และน้องเล็กนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ชิงดีชิงเด่น เพื่อหวังผลในระยะยาว โดยที่ฝั่งของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ปลื้มคนของพี่ใหญ่หลายราย ทำให้ทำงานกันยาก ส่วนคนของพี่ใหญ่ก็ไม่พอใจผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้สนับสนุน ดูแลในแง่ของความเป็นคนซีกรัฐบาล ตรงกันข้ามกับบรรดาสายตรงที่ทุกรายต่างอิ่มหมีพีมันกันถ้วนหน้า บางคนถูกมองว่าจองหองพองขนกันน่าดู นี่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการที่ทำให้แก๊ง 3 ป.จะกลับมากลมเกลียวกันเหมือนเดิมได้ยาก
สูตรนายกฯ คนละครึ่งดูเหมือนว่าน่าจะเป็นหนทางรอมชอมและทำให้พรรคสืบทอดอำนาจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่มันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบช่วงที่พี่ใหญ่ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ กับการกลับมาทำหน้าที่อีกหนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หากตั้งโจทย์ไว้ว่าสองปีแรกเป็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจบริหาร สองปีหลังเป็นพี่ใหญ่ ก็ชวนให้เกิดข้อสงสัยกันอยู่ไม่น้อยบรรดาข้าราชการทั้งหลายจะวางตัวและทำงานกันอย่างไร ต้องให้ความสำคัญกับใครเป็นพิเศษ คิดแค่นี้ก็อยู่กันยากแล้ว สูตรนี้เชื่อได้ว่าน่าจะทำให้สะเด็ดน้ำลำบาก