ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง SGC ขายไอพีโอ 820 ล้านหุ้น ลุยเทรด SET ขยายพอร์ตสินเชื่อ 5 หมื่นล.

ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง “เอสจี แคปปิตอล” หรือ SGC ขายไอพีโอ 820 ล้านหุ้น เตรียมพร้อมเข้าเทรด SET มุ่งขยายธุรกิจด้านสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันโดยเฉพาะรถบรรทุก ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 65 แตะ 5 หมื่นล้านบาท


นางสาวบุษบา กุลศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 และนับหนึ่งแบบไฟลิ่งเรียบร้อยแล้วในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เพื่อสร้างโอกาสการเติบโต และขยายธุรกิจสินเชื่อภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เป็นผู้นำในธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน’ ที่ขยายตัวไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในประเทศ และสร้างการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืนในฐานะผู้นำด้านสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีหลักประกัน โดยมุ่งเน้นการขยายธุรกิจด้านสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันโดยเฉพาะรถบรรทุก และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับสินค้าและบริการในเครือซิงเกอร์ประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ

โดยวางเป้าหมายการเติบโตของมูลค่าลูกหนี้พอร์ตสินเชื่อทะยานสู่ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 จาก ณ สิ้นงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 มีมูลค่าลูกหนี้ 13,808.66 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์ของ SGC ประกอบด้วย (1) สินเชื่อประเภทให้เช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (รถบรรทุก รถยนต์นั่ง ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์) ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” (2) สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในครัวเรือน (Home Appliances) เครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Commercial Appliances) และ เครื่องจักร (Captive Finance)  (3) สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน (Debt Consolidation) และ (4) สินเชื่อผ่อนทอง (Click2Gold)

อย่างไรก็ดี SGC มั่นใจว่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการเติบโตของผลการดำเนินงานต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สะท้อนความเชื่อมั่นต่อลูกค้า และความสำเร็จของกลยุทธ์การขยายธุรกิจด้านสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ตอกย้ำ SGC เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสินเชื่อและสินเชื่อเช่าซื้อสินค้าที่ครองใจผู้บริโภคทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ

ส่วนนายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม SGC กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 และนับหนึ่งแบบไฟลิ่งของ SGC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดธุรกิจ เงินทุนและหลักทรัพย์

โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 820 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.08% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 574 ล้านหุ้น (หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด) มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยให้ Pre-emptive Right ในอัตราส่วน 1.4326 หุ้นสามัญของบริษัทต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SGC ในราคาเสนอขายเดียวกับราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SGC ให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

ทั้งนี้บริษัทฯ จะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับราคาเสนอขาย ระยะเวลา และวิธีจองซื้อหุ้น รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องและความคืบหน้าอื่นๆ ในลำดับต่อไป ทั้งนี้ SINGER ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น SGC ก่อน IPO 100% และภายหลัง IPO จะมีสัดส่วนการถือหุ้น 74.92%

ด้านนายธีร์ จารุศร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวเสริมว่า SGC จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ บางส่วน เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโต และข้อจำกัดด้านต้นทุนทางการเงินที่คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สนับสนุนความน่าสนใจให้ SGC มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่องในอนาคต

โดยผลการดำเนินงานของ SGC ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,030.68 ล้านบาท เติบโต 18.36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากรายได้ดอกเบี้ย ประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อรถทำเงิน 46.57% และรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร สัดส่วน 50.42% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 306.91 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 SGC มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,781.82 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 593.03 ล้านบาท ตามลำดับ

Back to top button